การกระตุ้นไทยเที่ยวไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นแค่การพยุงเศรษฐกิจเท่านั้น ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยว ในพื้นที่รัศมีการขับรถไม่เกิน 350 กิโลเมตร เช่น หัวหิน กาญจนบุรี เขาใหญ่ แม้คนไทยจะเที่ยว แต่ก็ไปเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ ขณะที่เมืองท่องเที่ยวในภาคเหนือและภาคใต้ บุ๊กกิ้งแทบไม่มี เพราะพึ่งพิงตลาดต่างชาติเป็นหลัก ทำให้ภาพรวมของธุรกิจกลับมาเปิดบริการได้ราว 30-50% เท่านั้น และหลายเมืองท่องเที่ยว เริ่มเรียกร้องถึงการท่องเที่ยวแบบTravel Bubble ก่อนที่ธุรกิจกว่า 60% อาจจะปิดตัวถาวรภายในสิ้นปีนี้
รวมถึงมาตรการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยใน 2 โครงการ คือ “กำลังใจ” ที่จะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.นี้ และ“เราเที่ยวด้วยกัน” ที่เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.นี้ จะเป็นจุดสำคัญที่รัฐบาลจะใช้วัดกำลังซื้อภายในประเทศในขณะนี้ รวมถึงการเตรียมกระตุ้นไทยเที่ยวไทยก๊อก 2 ที่จะเกิดขึ้นด้วย
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่าจากการสำรวจของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) พบว่า ขณะนี้มี 8 เมืองท่องเที่ยว แสดงความพร้อมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ กรุงเทพ,พัทยา,เชียงราย,เชียงใหม่,ภูเก็ต,สุราษฏร์ธานี,กระบี่,สงขลา เพราะเมืองเหล่านี้พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก และกำลังจะไปไม่รอด ถ้าภายในสิ้นปีนี้ไทยยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
แต่การจะเปิดให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมคงไม่ได้ ดังนั้นกระทรวงท่องเที่ยว จึงมองว่าจะต้องมีโครงการนำร่อง ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยที่สร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยรับรู้ถึงการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดไปพร้อมๆกัน จึงได้ข้อสรุปถึงแนวทางในการเปิดการท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble ที่ในเฟสแรก จะนำร่องใน 3 จังหวัด รวม 6 เกาะ ได้แก่ 1.จ.ภูเก็ต ทั้งเกาะ 2. จ.กระบี่ เฉพาะพื้นที่เกาะพีพี 3.จ.สุราษฏร์ธานี เฉพาะเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และเกาะนางยวน
โดยนักท่องเที่ยวเข้ามาจะต้องทำการบินเข้าไปยังจังหวัดนั้นๆโดยตรง ที่เบื้องต้นจะทำการบินโดยเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ต้องประสานกับสถานทูตไทยในต่างประเทศเพื่อขอวีซ่า เพราะไทยไม่มีการทำVISA ON ARRIVAL แล้ว อีกทั้งก่อนบินเข้ามาต้องมีการตรวจเชื้อว่าไม่เป็นโควิด -19 เมื่อเข้ามาถึงก็มีการตรวจซ้ำ และต้องกักตัวอยู่ในพื้นที่นำร่องดังกล่าว 14 วัน ห้ามข้ามจังหวัด หรือข้ามพื้นที่ที่กำหนดไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ติดเชื้อ จึงสามารถเดินทางข้ามไปเที่ยวยังจังหวัดอื่นๆของไทยได้ และในแต่ละพื้นที่จะรับนักท่องเที่ยวได้เท่าไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับบุคคลากรทางการแพทย์ในแต่ละพื้นที่ด้วย อย่างภูเก็ต รับได้ 1 พันคนต่อวัน เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถ้าเฟสแรกสามารถนำร่องในพื้นที่นี้ได้ ต่อไปก็มองจะผลักดันจ.ระยอง เฉพาะพื้นที่เกาะเสม็ด จ.ตราด เฉพาะพื้นที่เกาะช้าง ต่อไป โดยลงนักท่องเที่ยวต่างชาติลงสนามบินอู่ตะเภา หรือสนามบินตราด ก็ข้ามเกาะกักตัวในพื้นที่ดังกล่าว 14 วันเช่นกัน ซึ่งก็เหมือนกับประเทศมาเลเซีย ที่เปิดการท่องเที่ยวเฉพาะเมืองปีนัง ซึ่งก็ไม่มีการติดเชื้อเกิดขึ้นมากว่า 70 วันแล้ว
อย่างไรก็ตามกระทรวงการท่องเที่ยวฯก็ตั้งความหวังว่าถ้าผลักดันให้เกิดการนำร่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวในลักษณะนี้ให้เกิดขึ้นได้ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้(ก.ย.-ธ.ค.นี้)อย่างน้อยก็น่าจะดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนท์มาเที่ยวใน3 จ.ภาคใต้นี้ได้ราว 2 แสนคน รวมกับการกระตุ้นไทยเที่ยวไทย ก็น่าจะ ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้ได้ตามเป้าหมาย 1.23 ล้านล้านบาท
“วันนี้เราเริ่มเห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวไฮเอนท์ เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป มองที่จะลี้ภัยโควิด มาเที่ยวไทย แต่มาก็ต้องทำตามเงื่อนไขด้านความปลอดภัยที่ไทยกำหนดไว้ แต่คนจะตัดสินใจว่าจะมีการเปิดการท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ที่ต้องคิดในหลายมิติ ทั้งเรื่องของสุขอนามัยของคนในประเทศ และเศรษฐกิจของประเทศ เพราะถ้าไม่เปิดบ้างเลย รัฐบาลจะหาเงินที่ไหนมาจุนเจือคนตกงานมากมายและถ้าสุดท้ายธุรกิจตกต่ำลึกถึงขีดสุดก็คงจะกลับมาไม่ได้ ทางออกที่ดีที่สุดนายกก็ต้องมองทางสายกลาง ที่จะพยุงไม่ให้สถานการณ์ย้ำแย่ถึงขีดสุด”
เนื่องจากไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว จากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ขณะนี้ตลาดต่างประเทศหายไป เราก็พยายามโฟกัสไทยเที่ยวไทย แต่ก็ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะปัญหาคือคนไทยจะเดินทางเที่ยวเฉพาะในหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น ดังนั้นในส่วนของ “แพ็คเกจกำลังใจ” ที่รัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน ไม่เกินคนละ 2,000 บาท ให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) / อาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (อสส.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รต.สต.)รวม 1.2 ล้านคน เที่ยวฟรี จะให้ไปท่องเที่ยวในช่วงวันธรรมดา
ส่วนโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน ที่จะเปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 15 ก.ค.นี้ ทางกระทรวงท่องเที่ยวฯและกระทรวงการคลังก็มองว่าถึงอย่างไรแม้จะมีคนจองห้องพักเต็ม 5 ล้านห้อง แต่วงเงินที่รัฐบาลอัดฉีดในโครงการนี้ 1.8 หมื่นล้านบาท ยังไงก็ยังเหลือ เนื่องจากจำนวนคนที่จะจองใช้สิทธิ์เต็มจำนวน(คืนละ 3 พันบาท 5 คืนคนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่ก็จะจองห้องพักกันคืนละพันกว่าบาทมากกว่า เพราะนักท่องเที่ยวเมื่อจองต้องโอนจ่ายทันที 60% ซึ่งไม่เกิน 1 สัปดาห์จะรู้ทันทีว่ามีเงินเหลือเท่าไหร่
ทั้งเบื้องต้นคาดว่าจะเหลือเงินอีกราว 9 พันล้านบาท เพื่อนำมาขยายโครงการต่อในรอบ 2 ได้ โดยเปิดรับสมัครโรงแรมเข้าร่วมโครงการเพิ่มได้อีก ซึ่งจะเน้นการท่องเที่ยวในวันธรรมดา และการท่องเที่ยวในเมืองรอง รวมถึงทางกระทรวงการคลังอยากเปิดกว้างให้ที่พักที่ส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมสามารถเข้าร่วมโครงการได้
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,592 วันที่ 16 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563