นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ แกนนำกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากการประเมินผลผลิตมะพร้าว ในประเทศไทย โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ปี 2563 จำนวน 750,000ไร่ พื้นที่ปลูกลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศและกาส่งออกที่ประมาณ 1.1 ล้านตัน ในขณะที่ข้อมูลผลผลิตในประเทศจากการสำรวจมีเพียง 8.78 แสนตัน ซึ่งไม่เพียงพอ ล่าสุดในที่ประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 1/2563 (16 ก.ค.63) จะมีการปรับลดจำนวนมะพร้าวจากเดิมซื้อในประเทศ จาก 3:1 ปรับลด 2.5:1
“ผมสงสัยและกังขา เวาซื้อขายกันใช้หลักฐานตรงไหนมายืนยันในเรื่องสัดส่วน ขณะที่ นักวิชาการที่ประเมินเรืองน้ำประเมินว่าน้ำปีนี้จะมากกว่าปีก่อนๆ ส่งผลทำให้ราคามะพร้าวน่าจะถูกลง แต่กลับเห็นชอบ ตอนนี้นับถอยหลังแล้วหาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยกเลิกเมื่อไร ก็คงจะได้พบกันในเร็วๆ นี้ ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์”
นายสายชล ชนะภัย รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกรรมการในคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าวในคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบ พิจารณาการนำเข้ามะพร้าวภายใต้กรอบความตกลงของเอฟทีเอ ปี 2563 ใหม่ โดยปรับสัดส่วนใหม่ ซื้อมะพร้าวในประเทศ 2.5 และนำเข้าได้ 1 จากเดิม 3:1 โดยฝ่ายโรงงานอ้างปีที่ผ่านมาทำตามกติกาทุกอย่างแต่ก็ไม่สามารถนำเข้าได้เนื่องจากมีแกนนำเกษตรกรไปกดดัน จึงทำให้ไม่สามารถนำเข้าได้ และเสียโอกาส ซึ่งในส่วนของเกษตรกรก็ยืนขอในอัตราส่วนเดิมแต่สู้มติในที่ประชุมไม่ได้ ก็แพ้โหวตไป ได้ต่อสู้เต็มที่แล้ว
“ผมเข้าใจทุกฝ่าย แต่ก็อยู่ข้างเกษตรกรเต็มที่ อีกทั้งการประชุมทางไกลแบบซูม มีปัญหาอยู่คนละที่การสื่อสารออกความคิดเห็นในประชุมมีติดขัด ไม่เหมือนกับการประชุมแบบเห็นหน้าเห็นตา ทำให้มีข้อจำกัด”