นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนธุรกิจเดือนมิ.ย.2563 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 5,731 ราย เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 37% และเทียบเดือนมิ.ย.2562 เพิ่มขึ้น 3% มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 14,757 ล้านบาท เมื่อเทียบกับพ.ค.2563 เพิ่มขึ้น 53% แต่เทียบกับมิ.ย.2562 ลดลง 3% โดยธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 612 ราย คิดเป็น 11% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 271 ราย คิดเป็น 5% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร จำนวน 188 ราย คิดเป็น 3%
“ยอดการตั้งธุรกิจใหม่ในเดือนมิ.ย.2563 ที่เพิ่มขึ้น มาจากการที่ผู้ประกอบการที่ชะลอการตัดสินใจทำธุรกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ตอบสนองมาตรการคลายล็อกดาวน์ และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จึงได้ตัดสินใจตั้งธุรกิจใหม่ตามแผนที่ได้วางไว้ โดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็กมากถึง 99%”นายวุฒิไกรกล่าว
ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 1,336 ราย เทียบกับพ.ค.2563 เพิ่มขึ้น 48% และเทียบกับมิ.ย.2562 เพิ่มขึ้น 6% มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 5,132 ล้านบาท เทียบกับพ.ค.2563 เพิ่ม 73% และเทียบกับมิ.ย.2562 เพิ่ม 3% โดยธุรกิจที่เลิกกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 111 ราย คิดเป็น 8% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 69 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 36 ราย คิดเป็น 3%
สำหรับยอดรวมการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วง 6 เดือนปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) มีจำนวน 33,337 ราย ลดลง 13% ทุนจดทะเบียนรวม 104,571 ล้านบาท ลดลง 13% และธุรกิจเลิกกิจการ มีจำนวน 6,227 ราย ลดลง 7% ทุนจดทะเบียน 26,347 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18%
ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้มการจดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จะดีขึ้นตามลำดับ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และมาตรการการเงิน ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย การเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ผ่าน Soft Loan ขณะที่ภาคเศรษฐกิจจะเริ่มตอบสนองต่อมาตรการของรัฐบาล เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจมีการจดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือนมิ.ย.2563 เพิ่มขึ้น เนื่องจากการคลายล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการขับเคลื่อน ทำให้มีความมั่นใจในการลงทุนทำธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยมีธุรกิจที่น่าจับตา คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร ที่มีการตั้งใหม่เข้ามาเป็นอันดับที่ 3 จากปกติจะเป็นธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร เพื่อรองรับการขยายตัวของการค้าออนไลน์และบริการขนส่งสินค้าจากการซื้อขายออนไลน์
ล่าสุดมีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 30 มิ.ย.2563) มีจำนวน 765,775 ราย มูลค่าทุน 18.44 ล้านล้านบาท แยกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 186,682 ราย คิดเป็น 24.38% บริษัทจำกัด จำนวน 577,822 ราย คิดเป็น 75.46% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,271 ราย คิดเป็น 0.16% ตามลำดับ