อัด 5 มาตรการอุ้ม‘ลำไยเหนือ’

25 ก.ค. 2563 | 02:58 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2563 | 12:07 น.

ผนึกกำลังอุ้มลำไยเหนือ เกษตร-พาณิชย์ออก 5 มาตรการอุดหนุนการรวบรวม-คัดคุณภาพ ธ.ก.ส.จัดสินเชื่อดอกเบี้่ยต่ำเร่งระบายพ้นแหล่งผลิต เชียงใหม่เปิดตลาดจัดมหกรรมอาหารถิ่นหนุน

 

ทุกภาคส่วนระดมมาตรการอุ้มลำไยเหนือ สถานการณ์ลำไยปีนี้เป็นอีกปีที่ยากลำบาก ราคามีแนวโน้มลดลง จากปริมาณผลผลิตลำไยในฤดู 8 จังหวัดภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตสำคัญ มีเพิ่มขึ้น 6-7% รวมเป็นทั้งสิ้น 386,065 ตัน เริ่มออกตลาดตั้งแต่เดือนก.ค. และจะออกมากสุดในเดือนส.ค.นี้ ขณะที่การส่งออกไปตลาดจีนและอินโดนีเซียปีนี้มีอุปสรรคจากเชื้อโควิด-19 ผู้นำเข้าไม่สามารถเดินทางมาดูพื้นที่ได้ มั่นใจการระดมออกมาตรการดูแลดันราคาขึ้นได้แล้ว(ข้อมูลตามตารางประกอบ)

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการประชุมหารือผลผลิตและการกระจายสินค้ากับหน่วยงานในพื้นที่ว่า มาตรการที่ออกมานี้คาดว่าจะช่วยดึงราคาลำไยสดในประเทศให้สูงขึ้นตามกลไกการแข่งขันของตลาด แม้ว่าขณะนี้ราคาจะยังไม่สูงมาก แต่หากผู้ประกอบการสามารถเริ่มกระจายผลผลิตได้มากขึ้น ราคาก็จะปรับตัวสูงขึ้นเอง เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการอีกเป็นจำนวนมาก

พร้อมทั้งรับจะหาแนวทางลดต้นทุนค่าขนส่งแก่เกษตรกรที่จำหน่ายผ่านระบบไปรณีย์แบบ Delivery พร้อมทั้งจะปรับปรุงหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการ ของผู้ประกอบการในบางส่วน ที่อาจเกิดความล่าช้าในการช่วยเหลือเกษตรกร ขณะที่ผู้ประกอบการค้าลำไยในพื้นที่หลายแห่งยืนยันว่า มีความสามารถที่จะรับซื้อผลผลิตลำไยได้มากกว่าวันละ 100 ตัน เพื่อส่งไปแปรรูปในต่างประเทศ ซึ่งมีต้นทุนตํ่ากว่าการแปรรูปในประเทศไทย

นางเขมวรรณ ดวงจันทร์ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ลำไย เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ พื้นที่การผลิตที่สำคัญ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนประมาณ 850,000 ไร่ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง แพร่ และตาก

ปีนี้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศเหมาะสม กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินมาตรการการจัดการลำไยทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ผ่านโครงการต่าง ๆ ส่วนด้านตลาด คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน สนับสนุนให้มีจุดรวบรวมและคัดคุณภาพลำไยและกระจายผลผลิต ทั้งเพื่อการบริโภคสดภายใน ด้วยวิธีกระจายผลผลิตลำไยสดออกนอกแหล่งผลิต ผ่านผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน เครือข่ายพาณิชย์จังหวัด-สหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ ตลาดภายในจังหวัด และModern Trade รวมทั้งการจำหน่ายผลผลิตลำไยสด ลำไยอบแห้งทั้งเปลือกอบแห้งเนื้อสีทอง ลำไยกระป๋อง ผ่านตลาดออนไลน์ อาทิ ไปรษณีย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เป็นต้น

นายมาโนช บัวองค์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ภาคเหนือ ได้ทำโครงการจับคู่ธุรกิจ ระหว่างผู้ประกอบการ กับผู้รวบรวมผลผลิตลำไย ทั้งลำไยสด อบแห้งทั้งเปลือกและอบแห้งเนื้อสีทอง มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 กว่าคน ปริมาณความต้องการผลผลิตลำไยรวมกว่า 85,000 ตัน มีความต้องการสินเชื่อกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าหากกู้เงินจากโครงการของธนาคาร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวั่นลำไยล้นตลาด พาณิชย์เร่งระบาย

“ลำไย” ราคาดิ่ง หน้าสวน 6 บาท/กก. ปล่อยร่วงเกลื่อน จ้างแรงงานไม่คุ้ม

ธ.ก.ส.เหนือเตรียม500ล้านปล่อยกู้ไปซื้อ"ลำไย"

อัด 5 มาตรการอุ้ม‘ลำไยเหนือ’

อัด 5 มาตรการอุ้ม‘ลำไยเหนือ’

ด้านนายวโรดม ปิฏกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เผยว่า ผลจากโควิด-19 ทำให้การค้าการท่องเที่ยวในจังหวัดชะงัก หอการค้าเห็นว่าจำเป็นต้องกระตุ้นให้ตื่นตัวและฟื้นบรรยากาศค้าขายในพื้นที่ จึงประสานแจ้งผู้ประกอบการโรงแรม-การค้าทั้งหมดเกือบ 2,000 ราย ในย่านไนท์บาร์ซ่า ให้กลับมาเปิดอีกครั้งตั้งแต่ 1 ส.ค.นี้

นอกจากนี้จะร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) และหอการค้าไทยจัดงาน “ Chiang Mai Local Food Fair 2020” งานแสดงสินค้าวิถีใหม่ New Normal ระหว่างวันที่ 27-30 สิงหาคม 2563 ณ ตลาดอนุสารเชียงใหม่ คาดจะมีเงินสะพัดในระหว่างการจัดงานและต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน ประกาศราคาซื้อขายลำไยในพื้นที่จังหวัดลำพูน ประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ดังนี้ ลำไยสด (ช่อ) ตะกร้าขาว เกรดจีน AA(ทอง) 30-32 บาท/กก. เกรดอินโด 24-26 บาท/กก. ลำไยสด (รูดร่วง) 16-18 บาท/กก. และลำไยสด(ช่อ/มัดปุ๊ก) 20-24 บาท/กก.

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3595 วันที่ 26-29 กรกฎาคม 2563

ที่มา  กรมการค้าภายใน/สปชส.ลำพูน