นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เปิดเผยว่าภาคเอกชนมีความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังที่ยังขาดแรงขับเคลื่อนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ขณะที่มาตรการเยียวยาฯ กำลังจะสิ้นสุดลงใน1-2เดือนนี้ และสถานการณ์การจ้างงานยังเปราะบาง ส่งผลให้กกร.มีมติปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงมาเป็น -7% ถึง -9% (จากเดิม -5% ถึง -8%) และปรับลดคาดการณ์การส่งออกลงมาที่ -10% ถึง -12% (จาก เดิม -7% ถึง -10%) ขณะที่ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไว้ตามเดิม ที่-1.5ถึง-1%
ทั้งนี้ กกร. จะมีการจัดตั้งคณะทำงาน กกร. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เพื่อร่วมกันจัดเตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยจะมีการผลักดันแผน 4 เรื่องเพื่อให้เกิดผลได้จริง ได้แก่ 1. การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิง Wellness 2. การยกระดับการเกษตรมูลค่าสูง 3. การเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในธุรกิจเป้าหมาย และ 4. การยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาค ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อสรุปแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจดังกล่าวแล้ว จะนำไปหารือและเสนอให้มีมาตรการช่วยเหลือจากทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ กกร. มีการจัดตั้งคณะกรรมการภาษีเพื่อจัดทำข้อเสนอมาตรการทางภาษี (ภาษีสรรพากร) เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งคาดว่าภายใน1-2สัปดาห์นี้น่าจะเป็นรูปธรรมและข้อเสนอดังกล่าว กกร.จะนำเสนอรัฐบาลให้ได้พิจารณาต่อไป
กกร.ยังเตรียมเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เหมือนกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. โดยเปลี่ยนจากบุคลาการทางการแพทย์ หรือกระทรวงสาธารณสุข มาเป็นภาคเอกชน เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและแนวทางการทำงานในช่วงครึ่งปีหลังว่าจะเป็นในทิศทางใด โดยมีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงต่าง ๆ ร่วมทำงานด้วย ซึ่งงานที่ภาคเอกชนต้องการเห็นภายใต้การบริหารของครม.ชุดใหม่ คือมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐมีและกำลังจะสิ้นสุด ก็ต้องการให้ขยายเวลาออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ รวมถึงงบประมาณในต่าง ๆ จังหวัดก็ควรเร่งผลักดันให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น การจัดสัมมนา เป็นต้น
“ขณะนี้มีนักลงทุนต่างชาติสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการหารือกับหอการค้าญี่ปุ่นพบว่า มีนักลงทุนจากญี่ปุ่นที่มีฐานการลงทุนในไทยและสนใจจะเข้ามาลงทุนในไทยกว่า 10,000 คน หรือนักลงทุนจากจีน ไต้หวัน หรือยุโรป อย่างเยอรมนี แต่ติดปัญหาที่โรงแรมที่จะให้บริการมีไม่เพียงพอและนักลงทุนต้องการราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งหลังจากนี้จะหารือกับสมาคมโรงแรมไทยเพื่อหาทางออกสำหรับทุกฝ่าย”