“จีน-กัมพูชา”เตรียมเซ็น FTA สร้างฐานตลาดใหม่แทนอียู

13 ส.ค. 2563 | 11:22 น.

กัมพูชาเตรียมลงนามเอฟทีเอกับจีน ภาษีสินค้ากว่า 1 หมื่นรายการทยอยลดภาษีเป็นศูนย์ ได้ฐานที่มั่นส่งออกใหม่แทนตลาดอียู แนะผู้ประกอบการไทยตั้งฐานผลิตเกษตรแปรรูปส่งออกไปจีน

 

จากที่สหภาพยุโรป(อียู)ได้ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางการค้าต่อกัมพูชา อ้างเหตุจากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ ซึ่งมาตรการดังกล่าวของอียูได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าด้านการเดินทางท่องเที่ยวของกัมพูชาที่จะต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) มาตรการของอียูทำให้กัมพูชาเสียสิทธิพิเศษทางการค้าราว 20% จากที่เคยได้รับจากอียู อย่างไรก็ดีอียูยังคงเปิดกว้างต่อการทบทวนการตัดสิทธิพิเศษทางการค้าดังกล่าว หากกัมพูชาดำเนินการปฏิรูป โดยให้สมาชิกพรรคฝ่ายค้านมีบทบาททางการเมือง และเริ่มกระบวนการปรองดองแห่งชาติ แต่ล่าสุดกัมพูชากำลังจะได้แต้มต่อใหม่ในการส่งออกสินค้า หลังเตรียมลงนามความตกลงการค้าเสรี(FTA)กัมพูชา-จีน ในเร็ว ๆ นี้

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต./ทูตพาณิชย์) ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา รายงานว่า จีนและกัมพูชาเตรียมลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (Cambodia – China FTA) ระดับทวิภาคี(กัมพูชามี FTAระดับพหุภาคีแล้วกับจีนก่อนหน้านี้ในนามอาเซียน-จีน) หลังการเจรจาเป็นไปด้วยดี โดยข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นกลไกสร้างความร่วมมือเพื่อขยายการค้า การลงทุน และธุรกิจบริการ ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์ของทั้งประเทศให้ดียิ่งขึ้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

EU ลงดาบ! ตัดสิทธิพิเศษทางการค้าต่อกัมพูชา

‘เสื้อผ้า-รองเท้า’เล็งเวียดนาม รับมืออียูตัดสิทธิการค้ากัมพูชา

 

 

นาย Sok Sopheak รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าคณะในการเจรจา กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในรายละเอียดทั้งในด้านทางเทคนิคและทางกฎหมายภายใต้กรอบการเจรจาดังกล่าว โดยครอบคลุมรายการสินค้าจากประเทศจีนส่งออกมายังกัมพูชา จำนวนกว่า 9,500 รายการ และสินค้าจากกัมพูชาที่จะส่งไปจีนกว่า 10,000 รายการ ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามเร็ว ๆ นี้

 

ทั้งนี้สินค้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของกัมพูชากว่า 340 รายการ ร้อยละ 95 ของสินค้ากลุ่มนี้ จะได้รับการ ยกเว้นภาษีศุลกากรเมื่อข้อตกลงฯ มีผลบังคับใช้ และที่เหลืออีกร้อยละ 5 จะตามมาภายในระยะเวลา 10 ปี กัมพูชาพยายามผลักดันให้เพิ่มเติมสินค้าข้าวสาร ยางธรรมชาติ ยาสูบ แป้ง และน้ำตาล ให้รวมอยู่ในสินค้า ยกเว้นภาษีด้วย ถึงแม้ว่าสินค้าเหล่านี้จะอยู่ในโควตาสินค้านำเข้าแล้ว แต่ปริมาณที่เกินกำหนดยังคงต้องเสียภาษี สำหรับกัมพูชาซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด สามารถค่อย ๆ ลดอัตราภาษีศุลกากรทีละขั้นตอน สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากจีนได้ โดยใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี ไปจนถึง 20 ปี ในการปรับอัตราภาษีให้เป็นศูนย์ต่อไป

 

 

สคต.ณ กรุงพนมเปญ ชี้ว่า เอฟทีไทยกัมพูชา-จีนที่กำลังจะลงนามมีผลบังคับใช้ ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยคือ 1. นักลงทุนไทยที่ต้องการผลิตสินค้าส่งออกไปยังจีน การเข้าไปตั้งฐานผลิตในกัมพูชาเป็นทางเลือกที่ดี เพราะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้กรอบเอฟทีเอดังกล่าวได้

 

2.ในอนาคตกัมพูชาจะเน้นการผลิตสินค้าในกลุ่มเกษตรและเกษตรแปรรูปเพื่อส่งออกให้ได้ปริมาณมากขึ้น เนื่องจากได้รับการยกเว้นภาษี แต่การลงทุนในด้านการผลิตและแปรรูปสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในประเทศยังมีไม่มากพอ จึงถือเป็นโอกาสของไทยในการขยายธุรกิจ และนำ Know how เข้าไปในกัมพูชา