บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI รายงานผลประกอบการ 6เดือน (มกราคม-มิถุนายนปี2563) ต่อตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศ ไทย(ตลท.)พบว่าการบินไทยและบริษัทย่อยขาดทุน 28,016 ล้านบาท เพิ่มขึ้น336% โดย ไตรมาส1 ขาดทุน 22,676 ล้านบาท ส่วน ไตรมาส 2 ขาดทุน 5,340 ล้านบาท
ทั้งนี้จากการแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของแต่ละประเทศ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ การบินไทยต้องทยอย ยกเลิกเที่ยวบินต่อเนื่องกระทบหนักในช่วงไตรมาส2จากการเดินทางที่หยุดชะงัก
การบินไทยยกเลิกเที่ยวบินทุกเส้นทางตั้งแต่วันที่1เมษายน2563 และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.)ออกประกาศห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้าไทยตั้งแต่วันที่3เมษายนถึง30มิถุนายน2563
สำหรับผลประกอบการ ไตรมาส1 ปี2563 การบินไทย ขาดทุน 22,676 ล้านบาทมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK)ลดลง 11.7% จากการปรับลดเที่ยวบิน มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร(เคบิ้น แฟ็กเตอร์) เฉลี่ย70.9%ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่80.3% มีผู้โดยสาร4.49ล้านคน ลดลงจากปีก่อน28.6%
รวมถึงมีรายได้รวม38,001ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน11,790ล้านบาท หรือ23.7% ส่วนค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่42,609ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน8,010ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่โดยส่วนใหญ่ลดลงจากปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่ลดลง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
การบินไทย ประกาศ ลดเงินเดือนสูงสุด70%-ลาไม่รับค่าจ้าง ถึงธ.ค.นี้
การบินไทย หารือ กองทัพเรือ ยืนยัน เดินหน้าMRO อู่ตะเภา
เช็คลิสต์ "การบินไทย" เปิด 5 จุดบินต่างประเทศ เที่ยวบินพิเศษ
รื้อใหญ่‘การบินไทย’ ‘ชาญศิลป์’ปรับองค์กร กล่อมพนักงานร่วมใจฝ่าวิกฤติ
ส่วนช่วงไตรมาส2 กระทรวงการคลังได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทยเหลือ47.86 % และ การบินไทยได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 63 ทำให้บริษัทอยู่ภายใต้สภาวะบังคับชั่วคราว (Automatic Stay)และให้ธุรกรรมบางอย่างได้เท่าที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติสามารถดำเนินต่อไปได้เท่านั้น โดยศาลล้มละลายกลางได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 ส.ค. 63
ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส2 ปีนี้ การบินไทยและบริษัทย่อย ขาดทุน 5,340 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อน1,525ล้านบาท มีรายได้ 2,165ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน40,017ล้านบาท หรือ94.1% กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน7,422ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายลดลงต่ำกว่าปีก่อน33,428ล้านบาท
ทั้งล่าสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 การบินไทย และบริษัทย่อย มีทรัพย์สินรวม 314,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31ธันวาคม2562 จำนวน 59,236 ล้านบาท(23.2%) มีหนี้สินรวม 332,199 ล้านบาท หนี้สินเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่แล้วจำนวน 89,157 ล้านบาท(36.7%) และส่วนของผู้ถือหุ้น ติดลบจำนวน18,155 ล้านบาท ลดจากสิ้นปีก่อนจำนวน 29,921 ล้านบาท (254.3%)
ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางอย่างเข้มงวด ทำให้ปริมาณความต้องการเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศลดลงเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ปรับลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารที่ต้องการเดินทาง รวมทั้งมีมาตรการและการบริหารจัดการด้านการเงินและกระแสเงินสดอย่างเคร่งครัด โดยไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 38,001 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 11,790 ล้านบาท หรือ 23.7% สาเหตุสำคัญเนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 42,609 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 8,010 ล้านบาท (15.8%) บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 22,676 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 456 ล้านบาท
สำหรับไตรมาส 2 ของปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของโลกอย่างรุนแรงอีกทั้ง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ประกาศห้ามอากาศยานขนส่งผู้โดยสารทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ทำให้บริษัทฯ จำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดเป็นการชั่วคราว
โดยบริษัทฯ ยังคงดำเนินมาตรการต่างๆ ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนอย่างเข้มงวดและรักษาสภาพคล่องทางการเงินเพื่อให้บริษัทฯ สามารถมีเงินสดในมือให้มากที่สุด และไตรมาสนี้ได้ทำการบินเฉพาะเที่ยวบินขนส่งสินค้าเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และเที่ยวบินพิเศษเพื่อนำคนไทยกลับบ้าน ทำให้มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 96.5% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 99.5% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 10.3% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ยที่ 74.7% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 0.08 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 98.6%
ด้านการขนส่งสินค้ามีอัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 99.9% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ยที่ 52.8% เนื่องจากบริษัทฯ หยุดทำการบินชั่วคราว ทำให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย ขาดรายได้จากธุรกิจการบิน แต่มีรายได้ในส่วนอื่นทดแทน ได้แก่รายได้จากการขนส่งสินค้า การจัดเที่ยวบินพิเศษการให้บริการสายการบินลูกค้า การจำหน่ายอาหารจากครัวการบิน ทำให้บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,492 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 40,017 ล้านบาท หรือ 94.1% แต่ในไตรมาสที่ 2 นี้ บริษัทฯ มีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น
อีกทั้งคณะกรรมการบริษัทฯ ฝ่ายบริหารและพนักงานร่วมกันสมัครใจปรับลดเงินเดือนตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม 2563 เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทฯ ทำให้มีค่าใช้จ่ายรวม 16,193 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 33,428 ล้านบาท (67.4%) ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 5,353 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1,525 ล้านบาท (22.2%)
CR.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย https://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=THAI&language=th&country=TH