หลังจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย กลาง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 และมีกำหนดวัน นัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 17 สิงหาคมนี้
ขณะนี้มี เจ้าหน้าที่รายย่อย 15 ราย ที่เป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้ สหกรณ์ออมทรัพย์วชิระพยาบาลและบริษัททิพยประกันชีวิต ยื่นความจำนงต่อศาลล้มละลายกลาง คัดค้านผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย
การยื่นคัดค้านดังกล่าว จะไม่ส่งผล กระทบแต่อย่างใด เนื่องจากเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ทำหนังสือสนับสนุนให้การบินไทยเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 การบินไทยและบริษัทย่อย มีหนี้สินรวม 332,199 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 18,155 ล้านบาท จากผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้(มกราคม-มิถุนายน 2563) ที่ขาดทุนอยู่ 28,029 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
15 เจ้าหนี้รายย่อย ยื่นค้านฟื้นฟู "การบินไทย"
การบินไทย หารือ กองทัพเรือ ยืนยัน เดินหน้าMRO อู่ตะเภา
เช็คลิสต์ "การบินไทย" เปิด 5 จุดบินต่างประเทศ เที่ยวบินพิเศษ
การบินไทย ประกาศ ลดเงินเดือนสูงสุด70%-ลาไม่รับค่าจ้าง ถึงธ.ค.นี้
รื้อใหญ่ ‘การบินไทย’ ‘ชาญศิลป์’ปรับองค์กร กล่อมพนักงานร่วมใจฝ่าวิกฤติ
ชง 4 เค้าโครงแผนฟื้นฟู
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การยื่นคัดค้านของเจ้าหนี้ที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการบินไทย และมั่นใจว่า การบินไทย จะได้เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู
เนื่องจากเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ มีหนังสือสนับสนุนให้เราเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู ดังนั้นในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ การบินไทยจะนำเสนอเค้าโครงของแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง
หลักๆ ของเค้าโครงของแผนฟื้นฟูจะ ประกอบไปด้วย 1.การปรับปรุงโครงสร้างของบริษัท 2.การปรับปรุงเส้นทางบิน เนื่องจากหลังเกิดโควิด-19 การบินไทยจะไม่สามารถบินได้เหมือนเดิม ระยะแรกอาจต้องบินในประเทศให้มากขึ้น ขณะที่เส้นทางบินระหว่างประเทศ ก็จะเปิดเที่ยวบินพิเศษ ตามความต้องการในการเดินทาง 3.การปรับปรุงรูปแบบการบริหารจัดการของบริษัท 4.แผนธุรกิจ
ทั้งนี้หากศาลฯ เห็นชอบให้การบินไทย เป็นผู้ทำแผน ทีมทำแผนก็จะไปจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายใน 5 เดือน แต่เราตั้งเป้าไว้ว่าจะทำแผนให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เมื่อแล้วเสร็จ ก็จะนำเสนอต่อศาล เพื่อขออนุมัติแผน จากนั้นก็จะเดินหน้าบริหารแผนฟื้นฟูต่อไป
การฟื้นฟูในครั้งนี้ เราหวังว่าจะทำให้การบินไทย กลับมายืนบนขาของตัวเองได้ อาจใช้เวลา 3-5 ปี พอยืนได้ ก็คาดว่าจะใช้เวลา 8-10 ปี ในการชำระหนี้ ซึ่งจากภาระหนี้กว่า 3 แสนล้านบาท ก็มีหลายวิธีในการเจรจาเพื่อลดหนี้ เช่น ตัดหนี้ แปลงหนี้เป็นทุน เป็นต้น
สำหรับกระแสเงินสดในขณะนี้ยังพอไหวอยู่ แต่การจะกลับมาเปิดทำการบินและดำเนินธุรกิจอีกครั้ง การบินไทยต้องการเงินอีกเป็นหลักหมื่นล้านบาท เนื่องจากเงินทุนทำธุรกิจไม่มี เพราะรายได้ไม่เข้ามาหลายเดือนแล้ว ซึ่งก็มีหลายวิธีที่จะดำเนินการ อาทิ การกู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือ อาจมีคนเข้ามาถือหุ้นเพิ่ม หรืออาจจะขอให้เจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุน เป็นต้น นายพีระพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 30 มิ.ย.63 การบินไทย มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 13,963 ล้านบาท โดยไตรมาสแรก ได้เบิกใช้เงินสินเชื่อทั้ง Committed Credit Line และ Uncommitted Credit Line รวมจำนวน 19,500 ล้านบาท จากสถาบันการเงินอื่น และจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อเสริมสภาพคล่องในระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อรายได้ของบริษัทที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ไม่ห่วงเจ้าหนี้รายย่อย
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กล่าวถึงความคืบหน้าดังกล่าวว่า ได้รับรายงานจากฝ่ายกฎหมายของสคร.ว่าเมื่อวันที่ 13-14 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหนี้รายย่อยจำนวนหนึ่ง แสดงความคัดค้านการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย
รวมถึงค้านการจัดตั้งผู้จัดทำแผนฟื้นฟูเข้ามา โดยให้เหตุผลว่า การบินไทยไม่จำเป็นต้องฟื้นฟูกิจการและเห็นว่ารายชื่อที่การบินไทยเสนอให้จัดทำแผนไม่มีความเหมาะสมเพียงพอ
ทั้งนี้ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะการบินไทย เป็นกิจการขนาดใหญ่ มีผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่และรายย่อยจำนวนมาก จึงต้องเห็นภาพการคัดค้านการฟื้นฟูกิจการดังกล่าวบ้าง แต่ขณะเดียวกันเจ้าหนี้หลักๆ ทั้งหมด คือเจ้าหนี้ประเภทสถาบัน หรือรายใหญ่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ได้มีการทำหนังสือสนับสนุนให้มีการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ โดยไม่มีประเด็นติดใจหากจะให้การบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟู
ไม่สะดุดครม.ใหม่
นายประภาศ กล่าวว่า หลังจากวันที่ 17 ส.ค.หากไม่มีการคัดค้านเกิน 1 ใน 3 ของจำนานเจ้าหนี้ ศาลก็จะสั่งให้เดินหน้าจัดตั้งผู้ทำแผน และทำแผนฟื้นฟูได้ทันที คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการจัดทำแผนให้แล้ว
เสร็จภายใน 3 เดือน จากนั้นจะมีการเรียกประชุมเจ้าหนี้ว่าจะคัดค้านแผนที่เสนอมาหรือไม่ หากเจ้าหนี้เห็นด้วยกับแผนที่เสนอมา ก็สามารถเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูตามกระบวนการได้ทันที
สำหรับรายชื่อคณะผู้จัดทำแผน 6 คนที่การบินไทยได้เสนอต่อศาล ประกอบด้วย 1. พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการบริษัท 2. นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ 3. นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ 4. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กรรมการ 5. นายบุญทักษ์ หวังเจริญ กรรมการ 6. นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการ
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,601 วันที่ 16 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563