16 เจ้าหนี้ รุมค้าน การบินไทย จ้าง "อีวาย" ทำแผนฟื้นฟูกิจการ

18 ส.ค. 2563 | 00:43 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2563 | 04:32 น.

เจ้าหนี้16ราย คัดค้านแผนฟื้นฟู การบินไทย จ้างอีวาย ทำแผนฟื้นฟูทั้งๆที่บริษัทมีทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาท ทั้งยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการฟื้นฟูกิจการการบินมาก่อน

     ศาลล้มละลายกลาง สรุปว่า ในการนัดไต่นัดสวนการ ฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา มีเจ้าหนี้ที่คัดค้านผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการนั้น มี 16 ราย เป็นเจ้าหนี้บุคคลธรรมดา 13 ราย และนิติบุคคล 3 ราย
 

16 เจ้าหนี้ รุมค้าน การบินไทย จ้าง \"อีวาย\" ทำแผนฟื้นฟูกิจการ
 

     หลังจากสีบพยานแล้วเสร็จศาลมีคำสั่งอนุญาตให้นัดไต่สวนพยานลูกหนี้ผู้ร้องขอที่เหลืออีก 2 ปาก กับสืบพยานเจ้าหนี้ผู้คัดค้านที่ 1ถึงที่ 10 จำนวน 1ปาก ในวันที่ 20  สิงหาคม 2563 และสืบพยานผู้คัดค้านที่ 11ที่ 12 และที่13 จำนวน 3 ปากในวันที่25  สิงหาคม2563  ตามที่คู่ความร้องขอ
 

     อย่างไรก็ตามเจ้าหนี้ที่คัดค้านแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เจ้าหนี้ที่ 1-10 คือเจ้าหนี้รายใหญ่ เช่น เจ้าหนี้กลุ่มที่ถือบัตรโดยสาร เจ้าหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล จำกัด เป็นต้น เจ้าหนี้ที่11-15 คือเจ้าหนี้รายย่อย และสุดท้ายบริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าหนี้รายที่ 17 ซึ่งไม่ได้ยื่นคัดค้านผู้ทำแผนฟื้นฟู แต่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมจัดทำแผนฟื้นฟูด้วย
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลล้มละลายกลาง นัดไต่สวน "การบินไทย" เพิ่มอีก 2 วัน

“การบินไทย” แจงตั้งอีวายฯ-บอร์ด5คนทำแผนฟื้นฟู

กินโต๊ะ "การบินไทย" ที่ปรึกษาบ้าเลือด เสียค่าโง่จ้างอีวายทำแผนฟื้นฟูเชือด
'อีวาย' สะเทือนไปทั้งบาง
สุดอ่วม การบินไทย ครึ่งแรกปี63 ขาดทุน 2.8 หมื่นล้าน

   
     รายงานข่าวจากผู้คัดค้านแผนการฟื้นฟู  ระบุว่า ประเด็นที่ทนายฝ่ายเจ้าหนี้ผู้ยื่นคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย จะมีข้อข้องใจใน  2 เรื่องหลัก ได้แก่1.การจ้างบริษัทอีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ทำแผนฟื้นฟูร่วมกับทีมผู้บริหารการบินไทย6คน
 

     โดยมีการซักถามอย่างหนักในศาลล้มละลายกลาง ถึง การว่าจ้างอีวายฯทำแผนฟื้นฟู ทั้งๆที่บริษัทมีทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาท ทั้งยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการฟื้นฟูกิจการการบินและธุรกิจที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทและบริษัทที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจมาก่อน การกำหนดค่าจ้างทำแผนฟื้นฟูกิจการ

     รวมถึงอำนาจในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ เด็ดขาด หลังจากแผนฟื้นฟูฯ ผ่านการเห็นชอบจากศาลฯ แล้ว จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารการบินไทยและ บริษัท อีวายฯ หรือไม่ เพราะทั้งสองบริษัทต้องลงนามในเอกสารร่วมกัน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ
       2.แผนธุรกิจการบินในอนาคต
     ทั้งนี้ผู้ยื่นคัดค้าน ไม่เห๋นด้วยต่อการจ้างอีวาย เพราะไม่เคยทำงานในบริษัทจำกัดมหาชน และธุรกิจที่มีมูลค่าแสนล้านบาท และการฟื้นฟูการบินไทยถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการบินของไทย เจ้าหนี้จึงไม่มั่นใจ
     สำหรับการเบิกความในการไต่สวนในวันแรกเมื่อวานนี้ นายชาญศิลป์  ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เบิกความเป็นพยานปากแรก ชี้แจงถึงกรณีบริษัทอีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นหนึ่งในผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ว่า บริษัท อีวายฯ แม้มิได้เชี่ยวชาญในส่วน Airline Expert (ส่วนสายการบิน) แต่มีความเชี่ยวชาญทางด้านบัญชี
     โดยในการจัดทำแผนผู้จัดทำแผนทั้ง 7 รายจะต้องลงนามร่วมกัน มิใช่ให้อำนาจคนใดคนหนึ่ง ส่วนกรณีบริษัท อีวายฯ มีทุนจดทะเบียนแค่ 5 ล้านบาท และไม่เคยฟื้นฟูกิจการบริษัทระดับทรัพย์สินแสนล้านบาทนั้น ไม่ทราบรายละเอียด แต่ทราบว่าเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านบัญชี และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เสนอชื่อบริษัท อีวายฯ เป็นผู้ทำแผน ก่อนที่ตนจะมาดำรงตำแหน่งดีดีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และภายหลังที่ออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ

      ส่วนแหล่งเงินทุนในการชำระหนี้นั้น นายชาญศิลป์ เบิกความสรุปได้ว่า ขณะนี้มีการหารือกับสถาบันการเงินในประเทศไทยหลายแห่ง แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด

16 เจ้าหนี้ รุมค้าน การบินไทย จ้าง \"อีวาย\" ทำแผนฟื้นฟูกิจการ
     การจัดทำแผนฟื้นฟูดังกล่าวดำเนินการอย่างโปร่งใส มีขอบเขตการทำงานอย่างชัดเจน ส่วนประเด็นการบริหารของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ผิดพลาดในช่วงที่ผ่านมานั้น ยืนยันว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมามีการบริหารงานผิดพลาด มีผลประกอบการที่ลดลง และมีปัญหาบางอย่างที่ไม่สามารถแก้ไขได้
     ขณะที่นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  ชี้แจงว่าอีวาย เป็นบริษัทที่มีเครือข่ายในต่างประเทศ ส่วนเรื่องประสบการณ์ในการฟื้นฟูกิจการสายการบินนั้น การฟื้นฟูกิจการของการบินไทยถือเป็นกรณีแรกในประเทศไทย จึงไม่มีบริษัทรายใดมีประสบการณ์ในลักษณะนี้
     ส่วนกรณีเงินค่าตอบแทนให้บริษัท อีวายฯ  มีการระบุไว้ว่า จะจ่ายเงินครั้งแรกจำนวน 22 ล้านบาท และจ่ายรายเดือน เดือนละ 15 ล้านบาท จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาคดีนี้ แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าเขียนอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการหรือไม่ และขณะนี้ยังไม่มีการจ่ายค่าทำแผนแก่บริษัทอีวายฯ เนื่องจากศาลยังไม่มีคำพิพากษา
     สำหรับร่างแผนฟื้นฟูเบื้องต้น การบินไทย จำกัด มีการปรับโครงสร้างทางการเงิน และโครงสร้างบุคลากรไว้แล้วมีการปรับลดรายจ่ายแก่พนักงาน และอื่น ๆ
     ขณะที่แหล่งเงินทุนในการจัดทำแผนนั้น ได้หารือกับสถาบันการเงินชั้นนำภายในประเทศไทย แต่ยังไม่อยากเปิดเผยข้อมูล ต้องรอให้ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ก่อน
      ด้าน นางสาว ชุติมา ปัญจโภคากิจ ที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด กล่าว
ต่อ ศาลว่า อีวายได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยระบุค่าทำแผนไว้ 22 ล้านบาท และจ่ายรายเดือน 15 ล้านบาทต่อเดือน
      ส่วนสาเหตุที่ไม่ได้มีการระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ ยืนยันว่าทุกอย่างดำเนินการตามกฎหมาย และบริษัท อีวายฯ มีความเชี่ยวชาญทางด้านบัญชีระดับโลก แม้ไม่เคยเป็นผู้บริหารในบริษัทที่มีสินทรัพย์ระดับแสนล้านบาท แต่เพราะว่าบริษัทระดับดังกล่าวมักไม่ค่อยเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ
      "อีวายไม่เคยทำงานในบริษัทจำกัดมหาชน และธุรกิจที่มีมูลค่าแสนล้านบาท และการฟื้นฟูการบินไทยถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการบินของไทย" นางสาวชุติมา กล่าว
      สำหรับรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการตามที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะลูกหนี้เสนอให้ศาลล้มละลายกลาง ที่ถูกเจ้าหนี้คัดค้าน มี 7 ราย ได้แก่ 1.บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด 2.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ 3.นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล 4.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 5.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ส.ว. 6.นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ 7.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ดีดีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
      นอกจากนี้ศาลล้มละลายยังจะนัดไต่สวนอีก 2 นัด วันที่ 20 ส.ค. 2563 และวันที่ 25 ส.ค. 2563 ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาต่อไป