“พาณิชย์”ชี้ช่องทางรวย ธุรกิจร้านกาแฟ-ชานมในกัมพูชา

18 ส.ค. 2563 | 03:38 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2563 | 11:00 น.

DITP ชี้ช่องลงทุนทำธุรกิจร้านกาแฟ-ชานมในกัมพูชา หลังตลาดบูมรองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ระบุปัจจุบันมีร้านกาแฟและชานมเปิดบริการกว่า 300 ร้านในกรุงพนมเปญ และ 500 ร้านทั่วประเทศ แต่ยังมีช่องว่างให้เจาะตลาด แนะก่อนเข้าไปลงทุน ต้องศึกษาตลาดให้ถ่องแท้ ถามผู้รู้ กำหนดรูปแบบการทำธุรกิจให้ชัด

 นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ได้รายงานสถานการณ์ธุรกิจร้านกาแฟและชานมไข่มุกในตลาดกัมพูชา เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่สนใจจะเข้าไปทำตลาดและขยายธุรกิจในกัมพูชาว่ามีโอกาสมากน้อยแค่ไหน และการจะเข้าไปทำธุรกิจ ควรจะเข้าไปในรูปแบบใด เพื่อให้ประสบความสำเร็จ เพราะปัจจุบันร้านกาแฟและชานมไข่มุกไม่ใช่แค่กระแส แต่ได้กลายเป็นไลฟ์สไตล์ของคนกัมพูชาไปแล้ว ทำให้ยังมีโอกาสเติบโตสูงต่อเนื่อง

“พาณิชย์”ชี้ช่องทางรวย  ธุรกิจร้านกาแฟ-ชานมในกัมพูชา

          “เหตุผลที่บอกว่าร้านกาแฟและชานมไข่มุก ไม่ใช่แค่กระแส เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคชาวกัมพูชาเปลี่ยนไป วันหยุดโดยเฉพาะวัยรุ่นและวัยทำงาน จะไปนั่งจิบกาแฟ พบปะสังสรรค์หรือนัดคุยธุรกิจตามร้านกาแฟที่มีบรรยากาศดีๆ น่านั่งกันมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจร้านกาแฟได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และมีแบรนด์ต่างชาติทยอยเข้ามาเปิดตัวกันอย่างต่อเนื่อง ส่วนชานมไข่มุก เป็นสินค้าที่กลุ่มเด็กนักเรียน นักศึกษา กลุ่มซื้อกลับบ้านและซื้อแบบเดลิเวอรี่ให้ความนิยม และปัจจุบัน ก็มีแบรนด์ชานมไข่มุกจากต่างชาติเข้ามาทำตลาดในกัมพูชามากขึ้น”

          ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีร้านกาแฟและชานม เปิดให้บริการกว่า 300 ร้าน ในกรุงพนมเปญ และประมาณ 500 ร้านทั่วประเทศ โดยแบรนด์ของไทย มีเข้ามาเปิดให้บริการแล้วกว่า 10 แบรนด์ เช่น Amazon, Black Canyon, True Coffee, Inthanin, Arabitia, ดอยช้าง, ดอยหล่อ และชาวดอย เป็นต้น โดยครองส่วนแบ่งตลาด 45% จากร้านกาแฟทั้งหมดในกัมพูชา Amazon เป็นที่นิยม มีสาขากว่า 140 สาขา ส่วนแบรนด์ที่นิยมอื่นๆ เช่น Brown Coffee ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวกัมพูชา Starbucks สัญชาติอเมริกัน มีสาขา 20 สาขา และล่าสุด Arabica จากญี่ปุ่น ที่เพิ่งเข้ามาเปิดสาขา ส่วนชานมไข่มุก มีแบรนด์ชื่อดัง เช่น Tiger Sugar, The Alley, Dakasi, KOI, The Xing Fu Tang และ Chatime เป็นต้น และแบรนด์ของไทย เช่น Fire Tiger, Crown, ชาตรามือ, Kamu, Moma’s bubble tea, Rin Rin Bubble Milk Tea และ Nobicha เป็นต้น       

   ด้านนายจิรวุฒิ สุวรรณอาจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนกิจการร้านกาแฟ ร้านชานม ในกัมพูชา จะต้องศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจที่จะลงทุนก่อน หรือสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือสอบถามมายังสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศก็ได้ และควรจะเดินทางไปสำรวจตลาด พบปะหน่วยงาน บริษัท หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามข้อมูลและหาโอกาสทำธุรกิจและทำการประเมิน วางแผนการทำธุรกิจว่าจะเริ่มต้นอย่างไร เพื่อให้ร้านของตนเองมีเอกลักษณ์หรือแตกต่างจากคู่แข่ง

          โดยรูปแบบการทำธุรกิจ สามารถทำได้ใน 3 ลักษณะ คือ ดำเนินกิจการเองทั้ง 100% ซึ่งเหมาะสำหรับร้านที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ร่วมลงทุนกับนักลงทุนท้องถิ่น หากได้คู่สัญญาที่มีศักยภาพจะช่วยเติมเต็มการทำธุรกิจ แต่ต้องทำสัญญาให้ละเอียดชัดเจนและรัดกุม และขายแฟรนไชส์ให้กับนักลงทุนท้องถิ่น ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนและเวลา และต้องเข้าไปช่วยในการทำตลาด คิดโปรโมชั่น แต่ต้องระวังในเรื่องผู้ซื้อแฟรนไชส์ไม่สามารถทำตามเงื่อนไข ก็อาจทำให้แบรนด์เสียหายได้

“พาณิชย์”ชี้ช่องทางรวย  ธุรกิจร้านกาแฟ-ชานมในกัมพูชา

          นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงสถานที่ตั้งของร้านว่าจะตั้งในที่ใด โดยมี 2 ทางเลือก คือ ตั้งในห้างสรรพสินค้า มีข้อดีคือ มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีคนสัญจรไปมา แต่ค่าเช่า ค่าส่วนกลางค่อนข้างสูง และตั้งร้านแบบนอกห้างสรรพสินค้า (Stand Alone) มีอิสระในการดำเนินกิจการ แต่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และต้องศึกษาศักยภาพของพื้นที่ด้วยตนเอง