87 ปีที่ “บุญรอดบริวเวอรี่” ก่อร่างสร้างองค์กรในเมืองไทย ชื่อของ “สิงห์” เป็นที่รู้จักและติดปากในฐานะ “เบียร์” แม้จะมีพอร์ตโฟลิโอ “เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์” หรือ นอนแอลกอฮอล์เป็นทัพเสริมเคียงข้างมาตลอดแต่ถือว่ายังมีสัดส่วนที่น้อยมาก แต่นับจากนี้ถือเป็น “บิ๊กมูฟ” ของสิงห์กับการประกาศเดินหน้าขยายพอร์ตกลุ่มนอนแอลกฮอล์เต็มที่ โดยใช้ 3 หัวหอกหลักอย่าง น้ำดื่มสิงห์ น้ำแร่เพอร์ร่า และโซดาสิงห์ เป็นตัวนำ
นายภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า กลุ่มเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์มีสินค้าที่ทำตลาดและประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ทั้งน้ำดื่มสิงห์ น้ำแร่เพอร์ร่า และโซดาสิงห์ แต่ในปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้บริษัทต้องพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อให้สอดคล้อง สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
โดยเทรนด์ของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะมีบทบาทต่อการบริโภคของประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสรักสุขภาพที่มาแรงได้กลายเป็นปัจจัยเร่งให้แนวโน้มผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น การต่อยอดพัฒนาสินค้าใหม่ จึงปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายธิติพร ธรรมาภิมุขกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มการตลาดแบรนด์ กล่าวว่า การเปิดตัวเครื่องดื่มสิงห์ เลมอนโซดา (Singha Lemon Soda) นับเป็นการสร้างสีสันให้กับวงการเครื่องดื่มและถือเป็นบิ๊กมูฟของสิงห์ เนื่องจากเห็นโอกาสการเติบโตของตลาด โดยนำเสนอเครื่องดื่มที่ให้คุณประโยชน์ มอบความสดชื่น และสามารถตอบโจทย์กระแสผู้บริโภครักสุขภาพได้ด้วย
สำหรับเครื่องดื่ม สิงห์ เลมอนโซดา วางตำแหน่งผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องดื่มทางเลือกเพื่อสุขภาพ และเครื่องดื่มดับกระหายให้ความสดชื่นเจาะกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมตลาดใน 2 หมวด คือเครื่องดื่มน้ำอัดลม ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวม 56,000 ล้านบาท และโซดากว่า 15,000 ล้านบาท เมื่อรวม 2 ตลาดคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 70,000 ล้านบาท
“สำหรับทิศทางของการทำตลาดกลุ่มนอนแอลกอฮอล์ บริษัทให้ความสำคัญกับเครื่องดื่มทางเลือกเพื่อสุขภาพ รับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน โดยสามารถสร้างโอกาสเติบโตในอนาคต และในฐานะที่สิงห์มีจุดแข็งด้านการเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มมายาวนาน จึงไม่หยุดนิ่งในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”