เมื่อเกิดโรคระบาด CORONA VIRUS ทั่วโลกและในไทย (ต้นปี ค.ศ.2020) และเราต้อง “กักกันตัวเอง” SELF LOCKDOWN หรือ “ถูกกักกัน” QUARANTINED เป็นเวลานาน (นี่ก็เข้า SEPTEMBER 2020 แล้ว)
ผมคิดถึงหนังสือ CLASSIC ดังระดับโลก 2 เรื่อง โดยคิดว่าหนังสือ 2 เล่มนี้ น่าจะมี “บทเรียน” ดีๆ ให้เรียนรู้บ้าง
เรื่องแรก คือ LOVE IN THE TIME OF CHOLERA “รักแท้แม้ “ห่า” ลง” โดย GABRIEL GARCIA MARQUEZ นักประพันธ์ชาว COLOMBIA ผู้ได้รับรางวัล NOBEL PRIZE สาขา LITERATURE (ในปีค.ศ.1982)
เรื่องที่สอง THE DIARY OF A YOUNG GIRL : ANNE FRANK (แปลโดย สังวร ไกรฤกษ์) บันทึกลับของ ANNE FRANK เด็กน้อยชาวยิว อายุเพียง 13 ปี เมื่อเริ่มบันทึก (ค.ศ.1942) ที่ต้อง “หลบซ่อน” ตัวอยู่กับครอบครัวใน “ห้อง” เป็นเวลานาน (เธอถูกจับในปี ค.ศ 1944) เพื่อให้ “รอด” จากการถูกจับ นำไปค่าย “กักกัน” หรือ ค่าย “สังหาร” ของนาซี เยอรมนีที่ต้องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
LOVE IN THE TIME OF CHOLERA “รักแท้แม้ “ห่า” ลง” เป็นเรื่องรักของอดีต “คู่รัก” มาเจอกันอีกทีในวัยชรา เมื่อ “สามี” ของสาวคนรักตายจาก “การตกบันได” หนุ่มคู่รักเก่า (รอเวลา 50 ปี) กลับมาสร้างความสัมพันธ์ใหม่ในเวลาที่ “ห่า” อหิวาตกโรคระบาด ผู้คนล้มตาย แต่หาได้เป็น “อุปสรรค” ต่อความรักของ “คู่ชรา” นี้ได้
ทั้งเรื่องผมได้ข้อคิดอยู่สองข้อ ข้อหนึ่ง แม้ในยามโรคระบาดอย่างรุนแรงที่ผู้คนรอบข้างล้มตายกันมาก คุณอาจไม่ได้ตาย “ห่า” แต่ “ตายโหง” จากอุบัติเหตุอย่าง “สามี” ของ FERMINA DAZA “นางเอก” ของเรื่องที่ตกบันไดตาย
ข้อที่สอง เมื่อคุณล่วงลับไปแล้ว อย่าได้คิดว่า “คนรัก” คุณจะเศร้าโศกเสียใจมากมาย ไม่เป็นอันกินอันนอน (ฮา)
คืนแรกที่ FERMINA DAZA อยู่กับโลงศพ “สามี” คุณหมอผู้มีชื่อเสียงเป็นที่นับถือของเมือง ผู้ไม่เคยอยู่ว่าง และแอบไปมี “กิ๊ก” ลับๆ
FERMINA DAZA รำพึงกับ “ศพ “สามี”...อย่างน้อยคืนนี้ ฉันก็สบายใจที่รู้ว่าเธออยู่ที่ไหน”
หนังสืออีกเรื่อง “บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์” เมื่อเริ่มอ่านผมคิดว่าจะได้ “ศิลป” ในการดำรงชีวิตใน “ที่หลบซ่อน” ในที่จำกัดเป็นเวลานานบ้าง (เกือบ 2 ปี)
เอาเข้าจริง ชีวิตในที่ซ่อนไม่ได้ลำบากมากทั้งทางร่างกายและจิตใจได้อยู่กับ “ครอบครัว” ได้อยู่กับ “เพื่อน” (ที่หลบมาซ่อนด้วย) อาหารการกินก็พอมี จากการ “ปันส่วน” จากการหาเอง
แต่ข้อคิดของเด็กสาววัย 13-14 ปีใน “บันทึกลับ” เล่มนี้ ผมกลับเห็นว่าน่าสนใจมากๆ โดยเฉพาะกับ “ผู้ใหญ่” ทั้งหัวดำ หัวหงอก ทั้งมีอำนาจ ทั้งยากไร้ ทั้งตะโกนโหวกเหวก ทั้งอ่อนโยน ฯลฯ
ANNE FRANK บันทึกไว้ในหน้าท้ายๆ ของ “หนังสือ” ก่อนถูกจับ (ค.ศ.1944) วัยตอนเขียน คงประมาณอายุ 15 ปี
“ฉันได้อ่านข้อความในหนังสือเล่มหนึ่ง เขียนว่า “ในส่วนลึกสุดของจิตใจนั้น เยาวชนหนุ่มสาวจะรู้สึกว้าเหว่ ยิ่งกว่าคนแก่”
ฉันจำข้อความนี้ได้ และได้รู้ว่ามันเป็นความจริง
พวกผู้ใหญ่ที่นี่ มีความลำบากมากกว่าพวกเราจริงหรือ
ไม่จริงดอก คนแก่คิดและทำอะไรตามใจตัวทุกอย่าง ทั้งไม่หวั่นไหวก่อนจะทำ
สำหรับเราหนุ่มสาวสิ ยากจะหาจุดยืนที่มั่นคง และยากจะยึดความคิดเห็นของตัวเอาไว้ได้ อุดมการณ์ของเรามีแต่จะถูกทำลายย่อยยับ
ในยามทุกข์ยากเช่นนี้ผู้คนก็แสดงแต่ด้านเลวร้ายที่สุดออกมา
เราก็ไม่แน่ใจว่า จะเชื่อความจริง ความถูกต้อง และพระผู้เป็นเจ้าหรือเปล่า
ใครที่อ้างว่า ผู้ใหญ่ลำบากมากกว่าเด็กนั้น หารู้ไม่ว่าเรามีปัญหาหนักอึ้งต่างๆ นานาต่อเนื่องกันมากเพียงใด
ปัญหาบางอย่างเราก็เด็กเกินกว่าจะรับ...
ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนรัก “ลูกหลาน” ของตนเองแน่ๆ และคงจะเผื่อแผ่ไปที่ “เด็กอื่นๆ” ด้วย ไม่เฉพาะ “ลูกหลาน” ในครอบครัว
เออ แล้วเรากำลังสร้าง “บ้านเมือง” กันแบบไหน อย่างไร ให้ลูกๆ หลานๆ ของเราครับ “ท่านผู้ใหญ่”...
ขอ “เพลงดีๆ” สร้าง “ชาติ” อีกสักเพลงนะ ขอรับ
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,602 วันที่ 20 - 22 สิงหาคม พ.ศ. 2563