คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" และมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 ซึ่งกำหนดให้ "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยมี ผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุด คณะกรรมการอาหารเห็นชอบร่างกฎหมาย เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง หลังทบทวนและประชุมหารือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน เอกชน และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เห็นชอบร่วมกันใช้ค่า "ต่ำสุดที่ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจสอบได้" หรือ "LOD" (Limit of Detection) ทั้งนี้ยึดหลักการสำคัญเน้นคุ้มครองความปลอดภัยสุขภาพของผู้บริโภคและความเท่าเทียมระหว่างผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหาร สำหรับข้อกังวลของอุตสาหกรรมอาหารเกี่ยวกับผลกระทบการขาดแคลนสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะ "ถั่วเหลือง" และ "ข้าวสาลี" มีค่ากำหนดสอดคล้องกับสหภาพยุโรป (EU) ที่มีการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเช่นเดียวกัน ซึ่งจะมี ผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2564
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 กำหนดให้คลอร์ไพริฟอส, คลอร์ไพริฟอสเมทิล, พาราควอต, พาราควอตไดคลอไรด์ และพาราควอตเมโทซัลเฟต เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามใช้สารดังกล่าวในทางการเกษตร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอาหารจึงดำเนินการทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นทั้งในและต่างประเทศ
ประชุมหารือผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และเอกชน รวมทั้งเครือข่ายห้องปฏิบัติการ โดยเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 คณะกรรมการอาหารได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) โดยปรับเพิ่มรายชื่อวัตถุอันตรายชนิดที่4 รวม 5 รายการดังกล่าว ในปี 2563 อย. ได้เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายในท้องตลาดที่มีวัตถุดิบที่มีโอกาสพบการตกค้างของคลอร์ไพริฟอสและพาราควอต เช่น ถั่วเหลือง น้ำนมถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง ข้าวสาลี แป้งสาลี ขนมปัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารพิษตกค้างของพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส จำนวน 48 ตัวอย่าง ซึ่งผลตรวจไม่พบการตกค้างของพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสทั้ง 48 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 100
สำหรับข้อกังวลของอุตสาหกรรมอาหารเกี่ยวกับผลกระทบการขาดแคลนสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะถั่วเหลืองและข้าวสาลี คณะกรรมการอาหารได้พิจารณาข้อมูลผลการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย ข้อมูลการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว และข้อกำหนดของสหภาพยุโรป ที่ประกาศห้ามใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งข้อกำหนดตาม(ร่าง)ประกาศฯ ฉบับนี้สอดคล้องกับข้อกำหนดของสหภาพยุโรป เลขาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้บริโภคได้มั่นใจกับความปลอดภัยของอาหารที่ อย.ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นอันดับแรก และในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงเศรษฐกิจของประเทศ
อนึ่ง สำหรับมาตรฐานใหม่ ของ อย ที่สามารถให้ 2 สารเคมี ที่ประเทศไทยแบนแล้วสามารถตกค้างได้ จะบังคับใช้หลังวันที่ 1 มิ.ย. 2564 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่ม “ผักผลไม้สด” กำหนดค่า LOD ของพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.005 mg./kg. (ในขณะที่ค่า MRL ของ CODEX อยู่ระหว่าง 0.01-2 mg./kg.) 2.กลุ่ม “เนื้อสัตว์ นม ไข่” กำหนดค่า LOD ของพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.005 mg./kg. (ในขณะที่ค่า MRL ของ CODEX อยู่ระหว่าง 0.005-1 mg./kg.) และ 3.กลุ่ม “ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง” กำหนดค่า LOD ของพาราควอต 0.02 mg./kg. คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.01 mg./kg. (ในขณะที่ค่า MRL ของ CODEX อยู่ระหว่าง 0.03-6.00 mg./kg.)
หมายเหตุ
ค่าต่ำสุดที่วิเคราะห์ได้ในเชิงปริมาณ (Limit of Determination; LOD) หมายถึง ความเข้มข้นที่ต่ำที่สุดของสารพิษตกค้าง
ตรวจพบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit; MRL) ได้ไม่เกินที่กำาหนด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เฮลั่น อย.ผ่อนปรนให้นำเข้าตามค่าโคเด็กซ์ ถึง มิ.ย.64
ตั้งโต๊ะรับคืน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ภายใน 29 ส.ค.
ราชกิจจาฯ ประกาศแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” 1 มิ.ย.