นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ธุรกิจในประเทศไทยต่างได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นอย่างมาก เนื่องจาก กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลงชั่วคราวจากการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคฯ ประกอบกับประชาชนต้องหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตหลายด้าน ทำให้การใช้จ่ายเกิดการชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยตรงในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ธุรกิจต่างๆ จึงเริ่มกลับมาประกอบธุรกิจอีกครั้ง ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่หันมาประกอบธุรกิจที่สอดรับกับการใช้ชีวิตยุค New Normal มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย ธุรกิจทางการแพทย์ และธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ
โดยธุรกิจดาวเด่นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะมีความเกี่ยวข้องกับความต้องการขั้นพื้นฐานและเทคโนโลยีเป็นหลัก เช่น อาหาร ยารักษาโรค และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงธุรกิจขนส่งอาหารและสินค้า ประกอบด้วย 10 ธุรกิจ คือ 1) ธุรกิจการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ด้านสุขอนามัยหรือเภสัชกรรมที่ทำจากยาง 2) ธุรกิจการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ 3) ธุรกิจการฆ่าเชื้อและกำจัด 4) ธุรกิจ e-Commerce 5) ธุรกิจการขายส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 6) ธุรกิจการบริการทำความสะอาดทั่วไปของตัวอาคาร 7) ธุรกิจจัดทำซอฟต์แวร์ 8) ธุรกิจขนส่งสินค้าและพัสดุ 9) ธุรกิจการขายส่งสินค้าทั่วไป และ 10) ธุรกิจเกี่ยวกับบัญชีการทำบัญชีและการตรวจสอบบัญชี การให้คำปรึกษาด้านภาษี โดยทั้ง 10 ธุรกิจดาวเด่น สามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มธุรกิจได้ดังนี้
ธุรกิจการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ด้านสุขอนามัยที่ทำจากยางพารา การขายสินค้าทางเภสัชภัณฑ์ทางการแพทย์ และธุรกิจการฆ่าเชื้อโรค/กำจัด จากสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ พบว่า ในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.63) ธุรกิจกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 37 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.62) โดยเฉพาะธุรกิจที่ผลิตสิ่งของเครื่องใช้ด้านสุขอนามัยที่ทำจากยางพารา เช่น ถุงมือยาง พบว่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 12 เท่า
ธุรกิจ e-Commerce จากสถิติจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.63) เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.62) เห็นได้ชัดว่าการสั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตและการขนส่งทางไปรษณีย์เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยอมรับมากขึ้น ทั้งนี้ พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงเวลาอันสั้น แสดงถึงการปรับตัวและการยอมรับเพื่อเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal โดยกระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นถึงความสำคัญและมุ่งหมายในการพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มนี้ จึงได้จัดโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ได้แก่ โครงการ Offline 2 Online โครงการ Thailand e-Commerce (Hackathon) 2020 ฯลฯ เป็นต้น
ธุรกิจจัดทำซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่น มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.63) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยจำนวนที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce และพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการประกอบธุรกิจที่ผู้ค้าออนไลน์เริ่มให้ความสนใจในการพัฒนาแพลตฟอร์มช่องทางการค้าหรือประยุกต์การใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมช่องทางการค้าออนไลน์ของตัวเองมากยิ่งขึ้น
ธุรกิจขนส่งอาหารและเอกสาร จากสถานการณ์ที่ผู้บริโภคต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ความนิยมในการสั่งซื้อสินค้าและอาหารทางออนไลน์ ทำให้ธุรกิจขนส่งอาหาร เอกสาร และสิ่งของ เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.63) ถึง 1,544 บริษัท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.62) ถึงร้อยละ 10
ธุรกิจอื่นๆ เช่น บริการทำความสะอาด ขายส่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขายส่งสินค้าทั่วไป และธุรกิจเกี่ยวกับบัญชีการทำบัญชี การตรวจสอบบัญชี และการให้คำปรึกษาด้านภาษี โดยธุรกิจกลุ่มนี้เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำเนื่องจากบริการจัดทำบัญชีและการตรวจสอบบัญชีเป็นสิ่งที่นิติบุคคลส่วนใหญ่ต้องใช้บริการ โดยมีแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 5 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา”
ทั้งนี้10 ธุรกิจดาวเด่นข้างต้น มีผู้ประกอบธุรกิจมาจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.62) แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบด้วย 1) ธุรกิจการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ด้านสุขอนามัยหรือเภสัชกรรมที่ทำจากยาง จำนวน 13 บริษัท เพิ่มขึ้น 12 เท่า (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 1 บริษัท) 2) ธุรกิจการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ จำนวน 438 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 150 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 175 บริษัท) 3) ธุรกิจการฆ่าเชื้อและกำจัด จำนวน 67 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 49 บริษัท) 4) ธุรกิจ e-Commerce จำนวน 508 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 377 บริษัท) 5) ธุรกิจการขายส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 150 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 126 บริษัท)
6) ธุรกิจการบริการทำความสะอาดทั่วไปของตัวอาคาร จำนวน 123 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 103 บริษัท) 7) ธุรกิจจัดทำซอฟต์แวร์ จำนวน 338 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 294 บริษัท) 8) ธุรกิจขนส่งสินค้าและพัสดุ จำนวน 1,544 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 1,400 บริษัท) 9) ธุรกิจการขายส่งสินค้าทั่วไป จำนวน 393 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 365 บริษัท) และ 10) ธุรกิจเกี่ยวกับบัญชีการทำบัญชีและการตรวจสอบบัญชี การให้คำปรึกษาด้านภาษี จำนวน 498 บริษัท ลดลงร้อยละ 5 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 524 บริษัท)
อย่างไรก็ตาม คาดว่าตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 เป็นต้นไป การประกอบธุรกิจของภาคธุรกิจจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นและเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่ 2 ในประเทศ รวมทั้งผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้