คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" และมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 ซึ่งกำหนดให้ "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยมี ผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุด คณะกรรมการอาหารเห็นชอบร่างกฎหมาย เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง หลังทบทวนและประชุมหารือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน เอกชน และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เห็นชอบร่วมกันใช้ค่า "ต่ำสุดที่ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจสอบได้" หรือ "LOD" (Limit of Detection) ยึดหลักการสำคัญเน้นคุ้มครองความปลอดภัยสุขภาพของผู้บริโภคและความเท่าเทียมระหว่างผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหาร สำหรับข้อกังวลของอุตสาหกรรมอาหารเกี่ยวกับผลกระทบการขาดแคลนสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะ "ถั่วเหลือง" และ "ข้าวสาลี" มีค่ากำหนดสอดคล้องกับสหภาพยุโรป (EU) ที่มีการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเช่นเดียวกัน ซึ่งจะมี ผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2564
แต่ในระหว่างนี้จนถึง มิถุนายน ปี 2564 ยังอนุญาตให้นำเข้าอาหารจากประเทศที่ใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส แต่ผลตกค้าง ต้องไม่เกินค่า MRLs (Maximum Residue Limits) ของ โคเด็กซ์ (CODEX) ขณะในส่วนของเกษตรกร "กรมวิชาการเกษตร" ให้เกษตรกรส่งมอบ 2 สารเคมีเกษตร คืนร้านค้า ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2563 เหลือระยะเวลา 3 วันเท่านั้น หากใครมีไว้ครอบครองผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และเลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” การกำหนดค่า "LOD" ก็คือ Limit of Detection เข้าใจง่าย ก็คือ ระดับที่ตรวจวัดได้ ซึ่งการออกมาในรูปแบบนี้ จะเห็นว่า เหมือน “ศรีธนญชัย” จะขึ้นอยู่กับวิธีวัด และเครื่องวัด คำถามที่ 1 ก็คือ อย.มีหรือไม่เครื่องวัด ซึ่งผมว่าไม่มี แล้วไม่มีจะทำอย่างไร ไม่แน่ใจว่าจะไปทำงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตรหรือไม่ แต่คิดว่าไม่เกี่ยวกัน ก็คิดว่า อย.น่าจะมีวิธีการในรูปแบบที่ยังนึกไม่ออกว่าจะใช้รูปแบบไหน
"แต่สมมติว่าไม่มี จะนำมาจากไหน ก็ต้องนำตัวอย่างจริง มาตรวจสอบจริงว่าที่ผ่านมาสินค้าเกษตร แต่ละล็อตที่นำเข้ามา ตรวจสอบ แล้วค่าตกค้างได้เท่าไร แล้วมาคิดเอาเองว่า ใช้ค่าเฉลี่ย มาตรฐานใหม่ ของ อย จะแบ่ง เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่ม “ผักผลไม้สด” กำหนดค่า LOD ของพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.005 mg./kg. (ในขณะที่ค่า MRL ของ CODEX อยู่ระหว่าง 0.01-2 mg./kg.) 2. กลุ่ม “เนื้อสัตว์ นม ไข่” กำหนดค่า LOD ของพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.005 mg./kg. (ในขณะที่ค่า MRL ของ CODEX อยู่ระหว่าง 0.005-1 mg./kg.) และ 3. กลุ่ม “ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง” กำหนดค่า LOD ของพาราควอต 0.02 mg./kg. คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.01 mg./kg. (ในขณะที่ค่า MRL ของ CODEX อยู่ระหว่าง 0.03-6.00 mg./kg.) เป็นตัวเลขที่คุยกันในวันนั้น สรุปว่า “ไม่ศูนย์” นี่งัย คือ “ศรีธนญชัย” ตั้งคำถามว่า ในประเทศแบน แต่กลับปล่อยให้สินค้านำเข้าเปื้อนตกค้างสารเคมี "พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส" สามารถนำเข้ามาได้"
นายพรศิลป์ กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยกำลังทำร้ายตัวเอง และ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะต้องตอบคำถามว่า กำลังทำร้ายเกษตรกรไทยใช่หรือไม่ เอาเกษตรกรไทยไปบูชายัญหรือ ซึ่งไม่มีเหตุผล อีกด้านต่างประเทศก็หัวเราะเยาะ แล้ว กลุ่มเอ็นจีโอหายไปไหนหมด ซึ่งการกระทำลักษณะแบบนี้ถ่มน้ำลายแล้วไปเลียกลับมา เพราะตอนแรกคุณโวยวายสารตกค้างไม่ได้ อย่างโน้นอย่างนี้ แต่วันนี้ให้นำเข้าสารปนเปื้อนเข้ามาได้ แล้วประเทศที่ส่งสินค้ามาให้กับไทย ประเทศนั้นก็ใช้สารเคมีเต็มที่ แต่ก็ใช้ระวัง สารตกค้างจึงต่ำ แล้วประเทศไทย เกษตรกรก็บอกว่าสามารถทำให้ต่ำได้ คุณก็สอนวิธีใช้ให้ แค่นี้ก็จบแล้ว
ขณะที่ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ผมเข้าใจในเรื่องนี้ต้องมีทางออกไปด้วยกันได้ทุกฝ่าย แต่เราก็ต้องยึดมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งการที่จะนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี หรือถั่วเหลือง ซึ่งมีมาตรฐานโคเด็กซ์อยู่แล้วที่ปฏิบัติติมาช้านาน สามารถที่จะดำเนินการได้เพื่อไม่ให้กิจการของที่ทำอุตสาหกรรมด้านนี้เสียหายไป และไม่เสียหายกับผู้บริโภค ผมคิดว่าได้กันทุกฝ่าย ผมไม่ได้เชี่ยวชาญในด้านนี้ ตัวเลขมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้ แต่ถ้าทั่วโลกยอมรับได้ ทำไมในประเทศไทยจะยอมรับไม่ได้ คิดว่าทางออกในรูปแบบนี้น่าจะไปได้
“ในส่วนเกษตรกรเวลาใช้สารไม่ได้มาตรฐาน จะเห็นว่าไปสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่เห็นชัด เช่น ไปใช้ยาฆ่าหญ้าในพื้นที่ต้นน้ำ ที่จังหวัดน่าน ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ตามคลิปวีดีโอ จากป่าต้นน้ำ ทำให้พันธุ์ปลาเสียหาย สิ่งแวดล้อมเสียหาย นั่นใช้อย่างไม่เป็นมาตรฐาน ดังนั้นการที่จะควบคุมการนำเข้าสินค้าตามมาตรฐานโคเด็กซ์ (CODEX) ก็ไม่ใช่ปล่อยเละเทะมา มีมาตรฐานโคเด็กซ์กำกับอยู่ ผมคิดว่า อย. คงพิจารณาแล้วให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินธุรกิจได้ปกติ และมีความปลอดภัยด้วย จึงออกมาในรูปแบบนี้”
แหล่งข่าวผู้ประกอกบการ เผย ว่า หากในประเทศแบน 2 สารเคมีเกษตร แล้ว หมายความว่าในประเทศห้ามมีสารตกค้าง ใช่หรือไม่ แล้วถ้าสมมติ มีเกษตรกรแอบใช้ แล้วโรงงานเกิดตรวจเจอ หมายถึงว่า ข้าวโพด หรือ อ้อย หากตกค้างพาราควอต ใช้ไม่ได้ และอาจจะรับซื้อไม่ได้ แล้วจะต้องทำอย่างไรกับสินค้าเกษตรเหล่านี้ หากไม่มีวัตถุดิบ โรงงานอาจจะขอนำเข้าสินค้าจากเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นที่ค้าขายกันอยู่แล้ว เพราะสินค้าเกษตรให้นำเข้ามาสามารถปนเปื้อนได้ เชื่อว่าในอนาคตบูมเมอแรง จะย้อนกลับมาที่เกษตรกร จะเกิดเหตุการณ์นี้แน่นอนในเร็วๆ นี้
ผู้สื่อข่าว รายงานข่าวว่า วันนี้ (27 ส.ค.63) นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ประธานการประชุมรับฟัง เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เรื่องการใช้ "พาราควอต" เวลา 13.00 น. ผลสรุปการประชุมจะเป็นอย่างไรนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" จะนำมารายงานให้ทราบต่อไป