คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" และมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 ซึ่งกำหนดให้ "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยมี ผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุด คณะกรรมการอาหารเห็นชอบร่างกฎหมาย เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง หลังทบทวนและประชุมหารือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน เอกชน และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เห็นชอบร่วมกันใช้ค่า "ต่ำสุดที่ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจสอบได้" หรือ "LOD" (Limit of Detection) ยึดหลักการสำคัญเน้นคุ้มครองความปลอดภัยสุขภาพของผู้บริโภคและความเท่าเทียมระหว่างผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหาร สำหรับข้อกังวลของอุตสาหกรรมอาหารเกี่ยวกับผลกระทบการขาดแคลนสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะ "ถั่วเหลือง" และ "ข้าวสาลี" มีค่ากำหนดสอดคล้องกับสหภาพยุโรป (EU) ที่มีการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเช่นเดียวกัน จะมี ผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2564
แต่ในระหว่างนี้จนถึง มิถุนายน ปี 2564 ยังอนุญาตให้นำเข้าอาหารจากประเทศที่ใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส แต่ผลตกค้าง ต้องไม่เกินค่า MRLs (Maximum Residue Limits) ของ โคเด็กซ์ (CODEX) ขณะในส่วนของเกษตรกร "กรมวิชาการเกษตร" ให้เกษตรกรส่งมอบ 2 สารเคมีเกษตร คืนร้านค้า ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2563 เหลือระยะเวลา 2 วันเท่านั้น หากใครมีไว้ครอบครองผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จุดยืนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ให้สิ่งที่ปนเปื้อนที่ประเทศเราแบน (พาราควอต-ควอร์ไพริฟอส) แล้วจะอนุญาตให้นำผลผลิตปนเปื้อนทางการเกษตรนำเข้ามาในประเทศ เป็นไปไม่ได้ ฝ่ายของเรา ก็คือ "กระทรวงเกษตรฯ "ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว และไม่อนุญาตให้มีสารตกค้างเข้ามาในประเทศไทยเด็ดขาด ส่วน ของ อย.นั้นไม่ทราบ ก็ต้องไปถาม ทาง อย. แต่นี่คือจุดยืนของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สอดคล้องกับนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร กล่าวว่า ถ้าแบน 2 สาร "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" ก็ไม่ควรจะมีการนำเข้าผลผลิตสารตกค้างจะต้องเป็นศูนย์ ซึ่ง ผมไม่รู้ หรอกค่า "OLD" แต่ควรจะเป็น “ซีโร่” หรือ "ศูนย์" ไม่เช่นนั้น "เกษตรกรก็โวยตายเลย" เพราะในประเทศไม่ได้ใช้เลย แล้วต่างประเทศใช้ได้ แล้วมีการผ่อนปรนคืออะไร แต่ผมยังไม่ทราบรายละเอียด ส่วนการชดเชยคงไม่มี เพราะเป็นสินค้าที่ทำให้ประชาชนและผู้บริโภคต้องเจ็บป่วยและต้องตาย แล้วกฎหมายนี้มีมาตั้งแต่ปี 2535 ประกาศว่าวัตถุอันตรายที่เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ห้ามใช้ ห้ามผลิตและห้ามครอบครอง นี่คือกฎหมาย แล้วกรมวิชาการเกษตร บังคับกฎหมาย แล้วก็มีการผ่อนปรนเวลาให้ส่งคืน แต่ก่อนที่จะกฎหมายก็ได้เปิดโอกาสให้ผู้ครอบครองมีสิทธิ์ที่จะส่งออกก็ได้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้านั้นได้ทำความเข้าใจกันมาเป็นปีแล้ว
“ในส่วนของผม ในฐานะที่เคยรับราชการมาก่อน เห็นว่า กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว จะต้องปฎิบัติตามกฎหมาย เพราะกฎหมายนี้สืบเนื่องมาจากประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบจากสารเคมี "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" จึงทำให้ประเทศไทยจำเป็นจะต้องเลิกใช้ หากมองในอีกมุมมองหนึ่งสิ่งแวดล้อมเสีย ใครจะเป็นผู้ชดเชย แล้วหลักเกณฑ์วัตถุอันตรายที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายตัดสินใจขึ้นบัญชีเป็นวัตถุอันตราย จะมีหลักเกณฑ์ชัดเจน เพราะกฎหมายเขียนบังคับไว้แล้ว แล้วไม่ใช่ไทยเพิ่งจะแบนสารเคมีตัวแรกในประเทศ และที่ผ่านมาก็ไม่มีการชดเชย คือผู้ขายหรือผู้ครอบครองสารจะต้องรับหน้าที่ทำลายสารนั้น”
นายฉกรรจ์ กล่าวว่า ต้องยอมรับความขัดแย้งทางหลักวิชาการมีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่ท้ายสุดก็ต้องไปจบที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายฯ และเมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติใดแล้ว หน้าที่เราจะต้องทำตาม และคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็พูดมา 2-3 ปีแล้ว ที่จะแบน ทราบหรือไม่ “พาราควอต” นำเข้าจากประเทศจีน ลิตรละกว่า 40 บาท แต่มาขายให้กับคนไทย ลิตรละ 120 บาท แล้วขายมา 40 ปี แล้ว ความจริงควรที่จะแบนตั้งแต่ปี 2493 แล้ว นักข่าวก็ถามสวนว่า ทำไมสมัยตอนท่านเป็นอธิบดี ทำไมท่านไม่แบน "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" นายฉกรรจ์ ก็ตอบสั้นๆว่า “ตอนนั้นผมโง่อยู่”