การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริโภคสินค้าของคนไทยลดลง ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ได้เร่งแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ดันโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไม ปี 2563 จำนวน 4.5 หมื่นตัน คาดจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท กำหนดรายละไม่เกิน 10 ตัน ล่าสุด มีความคืบหน้า อย่างไรบ้าง
นายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” การใช้เงินโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไม ปี 2563 จำนวน 4.5 หมื่นตัน คาดจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท จะใช้เงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเงื่อนไขของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ แต่ในขณะนี้ราคากุ้งตกต่ำ และต้องเผชิญการเลี้ยงยากมีโรคขี้ขาวในกุ้งขาว เป็นอักเสบของลำไส้ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การดูดซึมอาหารในลำไส้ไม่ดี กุ้งผอม โตช้าและทยอยตายเนื่องจากอ่อนแอ ซึ่งโรคนี้มีการระบาดมากว่า 2-3 ปีแล้ว และรุนแรงมากขึ้น ประเมินมากกว่า50% ผลผลิตทั้งประเทศที่เผชิญโรคนี้ ทำให้ต้นทุนสูง เพราะมีค่าใช้และต้นทุนในการเลี้ยงเพิ่มขึ้น จากอาหารกุ้ง กิโลกรัมละ 60 บาท ขณะนี้ราคาปรับขึ้นเป็น กิโลกรัมละ 80 บาท ประกอบกับราคาในขณะนี้ต่ำกว่าราคาต้นทุนของกรมประมงที่ประเมินไว้ในแต่ละขนาด
“มองว่าการใช้เงินกู้ของรัฐบาลที่ได้เตรียมไว้ 4 แสนล้านบาท หากไม่ได้ ทางเครือข่ายได้เสนอไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาให้ใช้เงินคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตร (คชก.) พร้อมได้เสนอการจัดตั้งคณะทำงานศึกษาแก้ปัญหาโรคโรคขี้ขาวในกุ้งขาว ซึ่งที่ผ่านมาในนามประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยได้พยายามติดตามความคืบหน้ามาตรการของรัฐ และได้ให้เวลาแล้ว แต่วันนี้เกษตรกรก็แบกภาระไว้ไม่ไหวต่อไป”
นายครรชิต กล่าวว่า ได้มีการเตรียมการที่จะยื่นหนังสือ และเคลื่อนไหวหลังโควิด ทางกลุ่มจะมีการกำหนดท่าทีความเคลื่อนไหวในวันที่ 18 ก.ย.นี้ที่จังหวัดสงขลา เพราะจำเป็นจริงๆ ซึ่งหากชาวบ้านมีการเคลื่อนไหวก็อย่ามาว่า เนื่องจากที่ผ่าน มาตลอดระยะเวลา 105 วัน ไม่มีอะไรคืบหน้าเลย เตรียมฮึ่มเคลื่อนไหวใหญ่ในเร็วๆนี้