นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (2 ก.ย.63) ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นฮับถุงมือยางของโลก โดยใช้โมเดล “เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด” รุกตลาดถุงมือยาง ซึ่งคาดการณ์ภาวะตลาดในปี 2563 ว่าจะมีความต้องการใช้กว่า 3.6 แสนล้านชิ้น มูลค่าไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาจากตัวเลขการส่งออกถุงมือยางของไทย ซึ่งเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 8-15% จึงเป็นข้อได้เปรียบและโอกาสที่ดีของชาวสวนยางและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมถุงมือยางของไทย ทั้งตลาดเดิม และการเปิดตลาดในกลุ่มประเทศผู้ใช้ถุงมือยางรายใหม่ ที่มีความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มมากขึ้น จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยการใช้น้ำยางพาราของไทย ซึ่งถือเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในการส่งออกน้ำยางเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยางพาราแท้ 100 %
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ในวันพุธหน้า (9 ก.ย.) คณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายางจะมีการประชุมครั้งที่ 5/2563 ซึ่งตนในฐานะประธานจะมอบนโยบายให้ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (ศูนย์ AIC : Agritech and Innovation Center) สนับสนุน กยท. ในการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากยางพาราธรรมชาติด้วยการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับรายได้ชาวสวนยางสร้างเสถียรภาพราคายาง และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางทั้ งต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างยั่งยืน
ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมแปรรูปยางของไทยเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะถุงมือยาง ทั้งนี้ กยท.ได้ออกมาตรการโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 25,000 ล้านบาท เพื่อให้กับผู้ประกอบกิจการยางขั้นปลายน้ำ ในการขยายกำลังการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ซึ่งต้องเป็นผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางต่าง ๆ ทั้งผลิตภัณฑ์ยางจากน้ำยางข้น และยางแห้ง เป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยางของประเทศไทย มีความเข้มแข็งในการเป็นผู้นำการผลิตและการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางของโลก โดยการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติของโลกตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท.ได้ร่วมมือและบูรณาการกับหลายภาคส่วน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยางทั้งระบบอย่างยั่งยืน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เร่งส่งเสริมการลงทุนในกิจการยางพารา เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบกิจการยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งด้านการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ด้านการลงทุน และด้านการบริการผ่านมาตรการต่าง ๆ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในการผลักดันเรื่องการตลาด การลงทุน และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผลิตภัณฑ์ยางของไทย
จัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ระหว่างผู้ค้าและผู้ซื้อถุงมือยาง รวมไปถึงการบูรณาการร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กรมวิทยาศาสตร์บริการ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และผู้ประกอบการถุงมือยาง เรื่องงานวิจัย พัฒนาด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีถุงมือยาง การลดปริมาณโปรตีนในถุงมือยางธรรมชาติ ซึ่งการวิจัยดังกล่าวได้คืบหน้าเป็นรูปธรรม ทำให้เชื่อได้ว่าถุงมือยางของประเทศไทยมีความปลอดภัยและสามารถส่งออกไปทั่วโลก