ผ่ามุมคิด  ‘ญนน์ โภคทรัพย์’  ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยคนใหม่ 

12 ก.ย. 2563 | 21:00 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2563 | 04:31 น.

เปิดมุมคิด ‘ญนน์ โภคทรัพย์’  ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยคนใหม่ ผู้นำทัพค้าปลีก-ค้าส่ง ฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อน eco system และผลักดันเศรษฐกิจไทย

ภาคค้าปลีก-ค้าส่งไทย ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สำคัญของประเทศ เพราะเกี่ยวเนื่องกับผู้คนทุกระดับ ทุกชนชั้น รวมถึงผู้ผลิตสินค้าทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ นอกเหนือจากการทำหน้าที่ในการกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ ยกระดับความเป็นอยู่ ภาคค้าปลีก-ค้าส่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อน eco system และผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีการขับเคลื่อน

 

วันนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ภายใต้การนำของ “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยคนใหม่ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมเดินหน้าเผชิญกับความท้าทายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่ง ที่ส่งสัญญาณติดลบครั้งแรกในรอบหลายปี การเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังซื้อผู้บริโภคที่อยู่ในภาวะถดถอย ฯลฯ

 

สร้างดีมานด์จริงสู่ตลาด
ญนน์” บอกว่า ผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงและกระทบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ เป็นแผลที่มีขนาดใหญ่และลึก ทุกฝ่ายพยายามบรรเทาผลกระทบด้วยการออกมาตรการทั้งนโยบายการเงินและการคลังในรูปแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจมีภาวะปกติ เห็นได้จาก ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2020 ที่พบว่าหดตัว-12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบ 22 ปี

ผ่ามุมคิด  ‘ญนน์ โภคทรัพย์’  ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยคนใหม่ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะหดตัวลึกถึง 13.1% หนักกว่าช่วงไตรมาสที่ 2 และสิ่งที่จะตามมาคือ อัตราการว่างงานและจำนวนของธุรกิจที่ปิดกิจการ สะท้อนถึงแนวโน้มของรายได้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ แนวคิดที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะต้องมุ่งไปที่ “การจ้างงาน การสร้างงาน” และ “การส่งเสริม SMEs ให้อยู่รอด” เป็นสำคัญ

 

ทั้งนี้จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะเห็นว่า ในปี พ.ศ. 2562 จำนวนประชากรผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปมี 56.49 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 37.77 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม 12 ล้านคน ภาคอุตสาหกรรม 6 ล้านคน ภาคการค้าปลีกและบริการ 18 ล้านคน ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนหน้าการเปิดล็อกดาวน์มีคนว่างงานประมาณ 8.4-9.0 ล้านคน ปัจจุบันหลังจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ คาดว่าจะมีผู้คนว่างงานอีกประมาณ 3.2 ล้านคน ยังไม่รวมเด็กจบใหม่ประมาณ 5.5 แสนคน คาดว่าจะมีคนว่างงานครึ่งปีหลัง ราว 3.2 ล้านคน

ผ่ามุมคิด  ‘ญนน์ โภคทรัพย์’  ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยคนใหม่ 

นโยบายสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เพื่อรับมือสถานการณ์แรงงาน การเลิกจ้าง การว่างงาน มี 2 แนวทาง คือ ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการพยุงการจ้างงานเดิม และทำอย่างไรให้เกิดการเพิ่มอัตราการจ้างงานใหม่ โดยจะมุ่งเป้าไปที่การสร้างดีมานด์ให้เกิดขึ้น ผ่านการกระตุ้นการจับจ่ายภายในประเทศ เพื่อให้เกิดการจ้างงานของทุกภาคส่วน ผ่านมาตรการต่างๆของภาครัฐ เช่น โครงการช้อปช่วยชาติ การกระตุ้นกำลังซื้อของกลุ่มผู้มีรายได้สูง ซึ่งมีจำนวนกว่า 8 ล้านคน เพื่อสร้างเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ เช่น การลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ เป็นต้น

ผ่ามุมคิด  ‘ญนน์ โภคทรัพย์’  ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยคนใหม่ 

สร้างSMEs แข็งแรง
“ญนน์” บอกว่า วันนี้ภาคค้าปลีก-ค้าส่ง ต้องเชื่อมโยงกับผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เกษตรกร SMEs กว่า 1.3 ล้านราย ซึ่งกว่า 85% เป็น ผู้ประกอบการระดับ SMEs จนถึง Micro SMEs แนวทางการขับเคลื่อนกลุ่มนี้ให้อยู่รอดและแข็งแรง คือการกำหนดกฎเกณฑ์ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุน เพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้แข่งขันได้ทั้งภายในและต่างประเทศ

 

“โดยทั่วไป SMEs หรือ ผู้ประกอบการรายย่อย จะมีเงินกู้เพื่อหมุนเวียนสภาพคล่องอยู่ได้ราว 3-6 เดือน ซึ่งก่อนหน้าล็อกดาวน์ ธุรกิจก็ยังสามารถรักษาสภาพคล่องได้ระยะหนึ่ง แต่เมื่อเงินสดสำหรับหมุนเวียนหมดแล้ว เมื่อคลายล็อกดาวน์ ภาครัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนเงินตั้งต้นสำหรับให้ดำเนินธุรกิจต่อได้ ขณะที่ Soft Loan ที่ภาครัฐปล่อยผ่านธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ก็กระจุกตัวอยู่แต่กลุ่มลูกหนี้เดิมๆ ไม่กระจายสู่ลูกหนี้ใหม่ เพราะกลัวจะเกิด NPL ทางสมาคมจึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาแพลตฟอร์มค้าปลีกขึ้นเชื่อมโยง Soft Loan ไปสู่ผู้ประกอบการที่มีอยู่”

ผ่ามุมคิด  ‘ญนน์ โภคทรัพย์’  ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยคนใหม่ 

ทุกช่องทางต้องโปร่งใส
อีกแนวทางที่สมาคมจะเดินหน้าผลักดันคือ การกำกับดูแลอย่างโปร่งใส โดยใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม จะทำให้เกิดความสมดุลในทุกช่องทางค้าปลีกทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ผ่านการออกมาตรการต่างๆ ทั้งการออกกฎหมายจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่มีการสั่งซื้อออนไลน์จากต่างประเทศ และภาษีมูลค่าเพิ่ม จากเดิมเคยกำหนดให้สินค้าที่สั่งซื้อออนไลน์ไม่เกิน 1,500 บาทต่อรายการสินค้า จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้เกิดช่องว่าง และการหลบเลี่ยงภาษี การห้าม E-Commerce ขายราคาตํ่ากว่าทุน ซึ่งทำให้เอสเอ็มอีและค้าปลีกไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก และจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน เพราะค้าปลีกในรูปแบบที่มีหน้าร้านมีการจ้างงานมากกว่า 6.2 ล้านอัตราในปัจจุบัน

 

ถือเป็น “ภารกิจ” อันหนักหน่วง กับการเดินหน้าภายใต้ตำแหน่ง “ประธาน” สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และยังมีความท้าทายอีกมากรออยู่ 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,609 วันที่ 13 - 16 กันยายน พ.ศ. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชง‘ช้อปช่วยชาติ’ ดันเงินสะพัดแสนล้าน

ค้าปลีก Q4 ส่งสัญญาณฟื้น  ลูกค้าเพิ่ม อีเวนต์จองยาวข้ามปี

กลุ่มค้าปลีกเสนอนายกฯ ดันโครงการ“ช้อปช่วยชาติ”

ห้าง-ศูนย์การค้า ล้อมวงพบ “นายกฯตู่” ร่วมฝ่าวิกฤติ