ผู้เลี้ยงกุ้งจี้ "จุรินทร์" ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาทั้งระบบ

14 ก.ย. 2563 | 10:04 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2564 | 11:45 น.

เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งร้องพาณิชย์  ตั้งคณะทำงานฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทยแก้ปัญหากุ้งทั้งระบบ  หวังอานิสงค์โควิด-19 คู่แข่งส่งออกกุ้งไม่ได้  ด้านพาณิชย์รับลูกตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจดูแลฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบ เร่งหาข้อสรุปภายใน1เดือน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังรับหนังสือจากเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยและคณะกรรมการเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยจาก 17 องค์กรทั่วประเทศ ว่าที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดูแลและฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบ โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมประมง กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สถานบันการเงินของรัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรในการร่วมกันหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา ทั้งในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่สูง ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟ อาหารกุ้ง พ่อแม่พันธุ์กุ้ง  ราคากุ้ง การหาแหล่งเงินทุน รวมถึงการส่งออก ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวจะมีการประชุมกัน1-2ครั้งต่อเดือน และคาดว่าน่าสรุปผลมาให้ตนรับทราบภายใน1เดือน เพื่อเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป

ผู้เลี้ยงกุ้งจี้ \"จุรินทร์\" ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาทั้งระบบ

 

 

ด้านนายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยและคณะกรรมการเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยจาก 17 องค์กรทั่วประเทศ กล่าวหลังการพบกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่ากลุ่มได้ยื่นหนังสือขอให้พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทยหลังวิกฤติโควิด-19 และนำเสนอโครงการฟื้นฟูด้านต่าง ๆที่เกี่ยวข้องเป็นกรณีเร่งด่วนโดยหวังพัฒนาคุณภาพกุ้งไทยและขยับส่วนแบ่งการตลาดในการส่งออกเพื่อนำเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศอย่างยั่งยืน

ผู้เลี้ยงกุ้งจี้ \"จุรินทร์\" ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาทั้งระบบ

ทั้งนี้อุตสาหกรรมกุ้งไทยเป็นอุตสาหกรรมส่งออก เป็นอันดับหนึ่งของโลกมีผลผลิตประมาณ 600,000 ตันนำรายได้เข้าประเทศกว่า 100,000 ล้านบาทมีการจ้างงานกว่า 200,000 ตำแหน่งต่อมาเกิดภาวะวิกฤติโรคระบาดอีเอ็มเอสทำให้ผลผลิตตกต่ำลงส่งผลให้ปริมาณผลผลิตในปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 300,000 ตันมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาทตกลงมาเป็นอันดับ 5 ของโลกและสร้างงานเพียง 100,000 ตำแหน่งเท่านั้นในขณะที่โรงงานใช้กำลังการผลิตไม่ถึงครึ่งของกระบวนการผลิตทั้งหมดและเกษตรกรปรับตัวกับวิกฤตอีเอ็มเอสได้แล้วจึงส่งผลให้อัตราการผลิตกลุ่มของไทยเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาและคาดหวังว่าจะเติบโตถึง 400,000 ตันในปี 2565- 2566

ผู้เลี้ยงกุ้งจี้ \"จุรินทร์\" ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาทั้งระบบ

อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าผู้เลี้ยงกุ้งมีปัญหาและอุปสรรคหลายด้าน เช่น ต้นทุนการผลิตที่สูงเพราะราคาอาหารสัตว์ที่อยู่ในระดับที่สูง จึงอยากให้ภาคภาครัฐพิจารณาในการลดภาษีน้ำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศลงเพื่อให้เกษตรกรหาซื้ออาหารสัตว์ได้ในราคาที่ถูกลง ให้ภาครัฐคิดอัตราค่าไฟฟ้าเรทเกษตรกรเพราะปัจจุบันถูกคิดค่าไฟฟ้าเรทไฟฟ้าบ้านทั่วไป มีแหล่งสินเชื่อที่เกษตรกรเข้าถึงได้เพราะปัจจุบันเกษตรกรไม่สามารถกู้สินเชื่อได้หรือกู้ได้น้อย รวมทั้งการกำหนดปริมาณผลผลิตกุ้งแต่ละปีให้มีความชัดเจนเพื่อป้องกันสินค้าล้นตลาด มีการเปิดโอกาสให้เครือข่ายเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่าง ๆ นำผลผลิตมาจำหน่าย ขยายฐานลูกค้า และแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำและภาครัฐก็ยังแก้ไขปัญหาได้ไม่ตรงจุดเครือข่ายจึงหวังว่าคณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นมาจะสามารถนำปัญหาที่เครือข่ายเสนอไปแก้ปัญหาให้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อจะได้รักษาตำแหน่งผู้ส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลกได้ต่อไป

ผู้เลี้ยงกุ้งจี้ \"จุรินทร์\" ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาทั้งระบบ

ทั้งนี้ปัจจุบันอุตสาหกรรมกุ้งโลกต่างประสบปัญหากับการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้าเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่กลับเป็นโอกาสดีของอุตสาหกรรมกุ้งไทยเพราะยังมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาเนื่องจากประเทศคู่แข่งรายสำคัญเช่น อินเดีย เอกวาดอร์ ยังประสบปัญหาในการผลิตในหลากหลายด้านทั้งกระบวนการส่งออกรวมทั้งพบการปนเปื้อนบนผลิตภัณฑ์เป็นต้นทำให้สินค้าของประเทศไทยได้รับความนิยมและมีความต้องการจากกลุ่มผู้ค้าหลักหลักเช่นจีนและประเทศอื่น ๆ มากยิ่งขึ้นจึงเป็นโอกาสให้ประเทศไทยในการเดินหน้าตลาดอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้มีสินค้าคุณภาพสู่ตลาดโลกมากขึ้น ดังนั้นเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยจึงต้องการให้หน่วยงานหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐเอกชนและองค์กรเกษตรกรเพื่อเป็นองค์กรต้นแบบในการพัฒนาสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลกร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้กลับสู่ขีดความสามารถเดิมภายใต้วิกฤตโควิด-19