นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผมในฐานะนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ขอขอบคุณนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และชาวนาทุกท่านที่ปลูกข้าว ให้โรงสีจึงมีงานทำและคนไทยได้บริโภคข้าวและสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งชาวนากับโรงสีคงแยกกันไม่ออกต้องพึ่งพาอาศัยกันส่งเสริมซึ่งกันและกันในความถนัดแต่ละด้าน ผมได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ที่มีผู้ใช้นามว่า “ แหล่งข่าวโรงสีข้าว” และ ”ท่านนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย” ได้ออกมาชี้แจงตอบโต้ ทำให้ผมไม่สบายใจ เพราะอาจจะทำให้การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ดีที่ตอบโจทย์แก่ชาวนาสะดุด และต้องขอขอบคุณกรมการข้าว โดยเฉพาะนักวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าว ที่พยายามหาพันธุ์ข้าวเพื่อตอบโจทย์ชาวนา ตอบโจทย์ตลาด ให้มีความหลากหลาย และรักษาพัฒนาพันธุ์เดิม (ต้องใช้เวลา5ปี ถึง10ปีกว่าจะได้พันธุ์ที่ดีแต่ละพันธุ์)
“เราผลิตข้าวส่วนหนึ่งใช้ภายในประเทศ และอีกส่วนหนึ่งเพื่อการส่งออก หากเกินความต้องการภายใน แล้วถ้าการส่งออกไม่ตอบโจทย์ประเทศผู้นำเข้าไม่ซื้อก็จะเกิดสต๊อกกดทับภายในทำให้ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร ที่สำคัญประเทศที่เป็นคู่แข่งกับไทย มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ถ้าเราไม่ปรับตัว นักวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวเกิดความสับสนในแนวทาง หรือไม่ได้รับการสนับสนุน ก็จะเป็นเรื่องที่ลำบากในการพัฒนาพันธุ์ส่วนการค้าขายขาดทุนก็อยู่ที่การบริหาร การคาดการณ์ ของผู้ประกอบค้าข้าว ไม่เกี่ยวข้องกับชาวนาและที่อยากฝากเพิ่มเติมถึงนักพัฒนาพันธุ์ข้าว และกรมการข้าวคือเรื่องการสร้างหรือเติมเอกลักษณ์ที่เปลือกของเมล็ดข้าวเปลือกให้เห็นชัดเจนโดดเด่น ก็จะช่วยลดปัญหาด้าน จำแนกประเภทข้าวเปลือกด้วยตาเปล่า ลดปัญหาเรื่องการผสมปลอมปน หรือปัญหาการรับซื้อข้าวเปลือกผิดชนิดประเภทได้”
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องของการปลอมปน ไม่น่าที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการมีข้าวนุ่มที่มีเพิ่มเข้ามาในตลาด เพราะตั้งแต่ในอดีต เรามีข้าวหลายประเภทก็มีทั้งพ่อค้าที่ดีและไม่ดี หรือมีเหตุผลใดขอผู้ประกอบค้าข้าวที่เราไม่อาจทราบได้ เมื่อพ่อค้าที่ไม่ดีเห็นช่องทางทำกำไรก็จะปลอมปนอยู่เสมอ แต่สุดท้ายผู้รับซื้อก็จะเข้มงวดในการตรวจสอบวัตถุดิบ อันนี้จึงเป็นเรื่องของรายบุคคล ส่วนเรื่องที่บอกว่าข้าวนุ่มขายไปตลาดต่างประเทศไม่ได้ ไม่มีคนรับซื้อนั้น ต้องดูว่าตอนนี้ข้าวไทยอยู่ในช่วงที่จะไปชิงส่วนแบ่งตลาดกลับมา หากข้าวนุ่มขายไม่ได้แล้วทำไมข้าวนุ่มของเวียดนามจึงแย่งส่วนแบ่งตลาดของเราไปได้
“ส่วนเรื่องของข้าวพื้นแข็งลดปริมาณลงนั้นเนื่องจากที่ผ่านมาชาวนาที่ปลูกข้าวเจ้าพื้นแข็งขายได้ราคาต่ำ ชาวนาจึงหันมาเลือกปลูกข้าวพันธุ์อื่นๆตามที่ชาวนาคาดว่าจะได้รายได้มีเงินมากขึ้น ซึ่งตามกลไกตลาดเราจะบังคับ จำกัดห้ามชาวนาในแต่ละบริเวณปลูกข้าวชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือบังคับจำกัดชาวนาบริเวณนี้ให้ปลูกข้าวชนิดเดียวนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เช่น เราจะระบุให้ชาวนาแถบนี้จะต้องปลูกข้าวเจ้าพื้นแข็งอย่างเดียวนั้นทำไม่ได้อย่างยิ่งเพราะชาวนาจะเสียประโยชน์อย่างมากเพราะที่ผ่านมาราคาข้าวเจ้าพื้นแข็งต่ำมากเกษตรกรจึงต้องการทางเลือกอื่น ทั้งนี้ตามกลไกตลาดหากข้าวเจ้าพื้นแข็งมีราคาที่ดี ชาวนาย่อมเลือกที่จะปลูกเอง ตามกลไกด้านราคาที่ดึงดูด รวมถึงข้าวชนิดอื่นๆด้วยหากให้ผลผลิตสูง ระยะเวลาเพาะปลูกต่ำ ต้านทานโรค ผลผลิตต่อไร่สูง ราคาข้าวเปลือกต่อตันสูง เกษตรกรก็พร้อมและมีสิทธิ์เลือกปลูกชนิดนั้นๆ”
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ข้าวทุกชนิดในความเป็นจริงมีตลาดรองรับอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น "ข้าวหอมปทุมธานี1" ที่ในอดีตคิดว่าจะมาแย่งตลาดข้าวหอมมะลิ แต่อย่างไรก็ดี ต้องให้เวลาในหารบริหารจัดการตัวเองว่าข้าวแต่ละชนิดของเราจะไปสู่ตลาดไหน ที่ใด แต่เป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่พัฒนาหรือเพิ่มทางเลือกที่ดีกว่าให้กับเกษตรกร เพราะท้ายที่สุดการพัฒนาพันธุ์ต่างๆจะนำไปสู่จุดที่สมดุลและจุดที่เหมาะสมของแต่ละตลาด และผลดีจะกลับสู่เกษตรกรและทั้งระบบค้าข้าวของไทย
"แต่หากไม่พัฒนาเลยและจะค้าโดยทำแบบเดิมขายแบบเดิมในระยะยาวไทยจะยิ่งเสียส่วนแบ่งในตลาดโลกและยากที่จะเอาส่วนแบ่งนั้นกลับคืนมาอาจเป็นการพังทะลายของระบบค้าข้าวทั้งระบบ “การวิจัยพัฒนาพันธุ์มีความจำเป็นที่จะต้องมีความหลากหลายสายพันธุ์เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร และความหลากหลายในด้านการตลาด”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โจทย์ใหญ่ “ประยุทธ์” เมื่อราคาข้าวดิ่งเหว
โรงสีเฉ่งยับ “ข้าวพื้นนุ่ม” ขายไม่ออก
ป้องอีสานปลูกข้าวพื้นนุ่ม ผวา “หอมมะลิ” กลายพันธุ์ จริงหรือ?
ทำไม ไทยหนุนชาวนาปลูกข้าวพื้นนุ่มชิงตลาดโลก