นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีครบรอบวันสถาปนากรมประมงปีที่ 94 พ.ศ. 2563 ณ กรมประมง ว่า ปัจจุบันการประมงของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากการประมงที่ต้องพึ่งพิงการจับจากธรรมชาติ เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก กลายมาเป็นอุตสาหกรรมการประมงขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ทั้งการทำประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ซึ่งการประมงเติบโตเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ และที่สำคัญผลผลิตจากการประมงของไทยได้กลายเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญทั้งของคนไทยและคนทั่วโลก
“ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งเน้นการส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ การนำศาสตร์พระราชาและเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน การพัฒนาเครื่องจักรกล เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อทดแทนแรงงาน นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นขับเคลื่อนการใช้ระบบการตลาดนำการผลิต โดยได้มีมาตรการในการหาตลาดใหม่ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มช่องทางในการขายให้กับผู้ผลิตสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสหกรณ์ เกษตรแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และ Young Smart Farmer ที่ต้องการจะสร้างความเข้มแข็ง เพื่อนำร่องในการปฏิรูปภาคการเกษตร ตลอดจนการบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน ทั้งในส่วนของประมงพาณิชย์ที่ต้องเร่งส่งเสริมให้รักษาสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เพื่อให้สามารถทำประมงได้ตลอดทั้งปี และในส่วนของประมงพื้นบ้าน ได้มีการขึ้นทะเบียนเรือ ซึ่งขณะนี้มีการขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ 50,000 ลำ”
นอกจากนี้ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพด้านการประมง อาทิ 1) การจ่ายเงินช่วยเหลือ จำนวน 5,000 บาท/เดือน ให้กับเกษตรกรและชาวประมงที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง 2) โครงการการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภาคการเกษตรจากวิกฤต COVID-19 วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท 3) โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ กรอบวงเงินรวม 400,000 ล้านบาท โดยเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมหลายหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงจะส่งเสริมปัจจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ 4) การยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ภารกิจของกรมประมงมีส่วนเกี่ยวข้องกับประชากรของประเทศ ตั้งแต่ระดับฐานรากจนถึงระดับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอาชีพประมงถือเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรชาวไทยอาชีพหนึ่งที่ไม่ต่างกับอาชีพการทำเกษตรแบบอื่น ๆ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง จึงต้องมีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งบุคลากร เทคโลยี และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ต้องมีการบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับการประมงของไทย ให้มีความมั่นคงและยั่งยืน สร้างพื้นที่ฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สร้างการรับรู้ สร้างความสุข สร้างโอกาสและความหวังให้กับพี่น้องชาวประมง และเชื่อมั่นว่ากรมประมงจะอยู่เคียงข้างพี่น้องชาวประมงอย่างจริงใจตลอดไป
ด้าน นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในวันที่ 21 กันยายน 2563 นอกจากเป็นวันครบรอบวันสถาปนากรมประมงปีที่ 94 แล้ว ยังเป็นวันประมงแห่งชาติ ครบรอบปีที่ 37 ด้วย ซึ่งถือเป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงความสำคัญของการประมงไทย โดยในส่วนภูมิภาคกำหนดให้จัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำทั้ง 77 จังหวัด และส่วนกลางได้จัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำออนไลน์ จำนวน 1,940,000 ตัว ลงแหล่งน้ำ จำนวน 4 แห่ง คือ บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ กว๊านพะเยา จ.พะเยา หนองหาร จ.สกลนคร และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่ออนุรักษ์และเพิ่มจำนวนทรัพยากรประมง
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้เกียรติเป็นประธานในการมอบโล่รางวัลให้แก่ เกษตรกรดีเด่น ข้าราชการดีเด่น รางวัลเลิศรัฐ งานวิจัยดีเด่นและชมเชย ข้าราชการและลูกจ้างประจำเกษียณอายุราชการ Smart PIPO เจ้าหน้าที่สืบสวนต้นแบบ ด้านการควบคุมการทำการประมงดีเด่น (Smart investigator) เรือประมงต้นแบบดีเด่น (Smart Vessel) ท่าเทียบเรือประมงต้นแบบดีเด่น (Smart Port) ชุมชนประมงดีเด่น และฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดีเด่น ตลอดจนเยี่ยมชมการจัดนิทรรศการผลงานกรมประมง ภายใต้หัวข้อ “กรมประมง ยืนหยัดพัฒนา การประมงอย่างยั่งยืน” ด้วย