นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จะเปิดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) เข้าร่วมขึ้นทะเบียน เพื่อให้พร้อมรองรับการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นับตั้งแต่ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป โดยเชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการซึ่งเป็นสมาชิกและอยู่ในเครือข่ายของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรวม 126,320 ราย เข้าร่วม
ทั้งนี้ จากปัญหาการดำเนินธุรกิจของ เอสเอ็มอี ทั้งที่เกิดจากผลกระทบวิกฤติ “โควิด-19” (Covid-19) และปัญหาไม่สามารถเข้าถึงตลาดต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการสร้างรายได้และขีดความสามารถทางธุรกิจที่ถดถอยลง สสว. เล็งเห็นว่าการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ท้องถิ่นและภูมิภาค สามารถเข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพโดยเฉพาะตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่าสูงกว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปีได้ จะเป็นหนทางช่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในระยะยาว
“ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการขนาดย่อม (Micro) และวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ที่เป็นผู้ค้าภาครัฐ จำนวนกว่า 45,000 ราย ซึ่งมั่นใจว่าหลังจากที่เปิดให้เอสเอ็มอีขึ้นบัญชีจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ จะทำให้มีผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท หรือ 30% ของงบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท”
อย่างไรก็ดี ช่วงที่ผ่านมา สสว. ได้ร่วมกับ กรมบัญชีกลาง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในนามคณะทำงานสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางการส่งเสริมการเข้าถึงตลาดดังกล่าว และจะเริ่มสะท้อนผลสำเร็จเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงการคลังกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ตามที่กรมบัญชีกลางเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน
โดยให้รับความเห็นจาก สสว. ไปประกอบการพิจารณา ทั้งนื้ เนื่องจากร่างกฏกระทรวงดังกล่าว มุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคผลิตและภาคบริการ ดังนั้นเพื่อกระจายการส่งเสริมให้ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจของเอสเอ็มอี สสว. จึงเสนอให้มาตรการดังกล่าวครอบคลุมภาคการค้าด้วย เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้เอสเอ็มอีได้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐมากยิ่งขึ้น และเป็นการกระจายโอกาสการเข้าถึงตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่มีศักยภาพในพื้นที่ภูมิภาค
สำหรับร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ได้กำหนดมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ง่ายขึ้น ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่ 1.กำหนดสัดส่วนจัดซื้อจากเอสเอ็มอี ไม่น้อยกว่า 30% ของวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างในหมวดสินค้า/บริการที่กำหนด โดยให้คัดเลือกจากเอสเอ็มอีในจังหวัดก่อน หากไม่มีในจังหวัดหรือมีจำนวนไม่ครบ 3 ราย สามารถคัดเลือกจากภายนอกจังหวัดได้
และ2.การให้แต้มต่อ 10% กับเอสเอ็มอีที่เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธี e-Bidding สามารถเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดไม่เกิน 10%
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว จะต้องขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายการสินค้าและบริการกับ สสว. ซึ่งในเบื้องต้น สสว. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรวมกว่า 22 หน่วยงาน ทำการรวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการและสินค้า/บริการ เช่น กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาคมภาคเอกชนต่างๆ เป็นต้น โดยรายชื่อผู้ประกอบการและสินค้า/บริการนี้ จะมีการตรวจสอบ คัดกรองและจัดหมวดหมู่ และนำเข้าสู่ระบบบัญชีรายชื่อจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งขณะนี้ มีผู้ประกอบการลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านทางหน่วยงาน องค์กรเอกชนต่างๆ 11 แห่ง ประมาณ 440 ราย จาก 41 จังหวัด มีรายการสินค้าและบริการประมาณ 1,200 รายการ ใน 51 หมวดสินค้าและบริการ
นายวีระพงศ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เพื่อให้การดำเนินมาตรการดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด สสว. จึงได้เตรียมแผนสร้างการรับรูปให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งในรูปแบบการอบรม และมอบหมายให้ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (SME One-Stop Service Center: OSS) ซึ่งมีสาขาทั่วประเทศ เป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ให้พร้อมเข้าสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต่อไป
“กฎกระทรวงดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเรื่องด่วน คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป ในส่วนผู้ประกอบการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จะต้องมีสัญชาติไทย ครอบคลุมนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา โดยเป็นผู้ประกอบการรายย่อย (Micro Enterprise) และผู้ประกอบการขนาดย่อม (Small Enterprise) ตามนิยามของ สสว.”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง