สสว.ปั้นเอสเอ็มอี 4 พันราย สร้างรายได้ 472 ล้านบาท

28 ก.ย. 2563 | 11:15 น.

สสว.เดินหน้าสานต่อโครงการสนับสนุนเครือข่าย SMEs เผยปี 63 ร่วมมือ 7 หน่วยงาน สร้าง 30 คลัสเตอร์ที่เข้มแข็งพัฒนา SME 4,246 ราย สร้างรายได้เพิ่ม 472 ล้านบาท

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)เปิดเผยว่า หนึ่งในแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการที่สำคัญของสสว.คือ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) หรือ SME รวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์ ซึ่งจะเป็นการรวมกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อเพิ่มกำลังให้เกิดอำนาจทางการต่อรองมากขึ้น

สสว.ปั้นเอสเอ็มอี 4 พันราย สร้างรายได้ 472 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ที่จะช่วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมให้กับ SME พร้อมต่อยอดทางการเงิน และการตลาดต่อไปในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับแนวการดำเนินงานหลักของสสว. Connext กล่าวคือ การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมและขยายช่องทางทางการตลาด

 

ทั้งงนี้ สสว.ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยผลการดำเนินปี 2563สามารถสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาและเชื่อมโยงในรูปแบบคลัสเตอร์ 30 คลัสเตอร์ มีผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจแบบคลัสเตอร์ 4,246 ราย และสามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ หรือมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 472.12 ล้านบาท

ปี 2563 สสว.ได้ดำเนินการร่วมกับ 7 หน่วยงาน ดังนี้ 1. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมคลธัญบุรี ดำเนินการกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร 2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ปลากัด 3. มหาวิทยาลัยวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ Health Retreatment

 

4. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ 5. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ Sport Economy6. สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ BCG Fashion Lifestyle และ7. สถาบันอาหาร ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์มะพร้าว สับปะรด และกระเทียม

สสว.ปั้นเอสเอ็มอี 4 พันราย สร้างรายได้ 472 ล้านบาท

นายวีระพงศ์กล่าวว่า โครงการนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างคลัสเตอร์ใหม่ๆขึ้นมาได้เท่านั้น แต่คลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ยังสามารถผลักดันและต่อยอดการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น คลัสเตอร์ปลากัดได้สนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งสมาคมปลากัดแห่งประเทศไทย ผลักดันให้มีการจัดทำมาตรฐานปลากัดและจัดประกวดปลากัดสวยงาม

ทำให้มีการยกระดับมูลค่าของปลากัดทั้งในเชิงราคาในท้องตลาด และการส่งออก พร้อมทั้งได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลากัด โดยตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็น Hub การส่งออกปลากัดในฐานะปลาสวยงามไปทั่วโลกซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน อินเดีย และเยอรมนี

 

ส่วนคลัสเตอร์คอสเพลย์(Cosplay) ได้จัดตั้งสมาคมอุตสาหกรรมคอสเพลย์ไทยในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับคอสเพลย์ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อผลักดันให้คอสเพลย์ไทยไปสู่มาตรฐานระดับโลกนอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเกษตรในการนำเทคโนโลยีขั้นต้นมาต่อยอด พัฒนาขึ้นเป็นถุงตากแห้งข้าว ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในการอบข้าวเปลือกให้ได้ความชื้นตามมาตรฐาน

 

โดยมีจุดเด่นคือสามารถเคลื่อนย้ายได้ ช่วยประหยัดเวลาการเก็บข้าว สามารถลดระยะเวลาในการตากแห้งข้าวเปลือกได้ จากเดิม 5 วัน เหลือเพียง 3 วัน และสามารถลดต้นทุนค่าแรงลงได้กว่า 40 % การดำเนินงานดังกล่าวนับเป็นเพียงตัวอย่างความสำเร็จของการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ ในการสร้างพลัง ต่อยอดองค์ความรู้ และเพิ่มมูลค่าให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างยั่งยืนต่อไป