จาก Vision 2020 ที่ประสบผลสำเร็จพา “ไทยเบฟ” ทะยานครองตลาดอาเซียนตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา วันนี้ “ไทยเบฟ” ประกาศเดินหน้าแผนงานใหม่อีกครั้งด้วยการขับเคลื่อนสู่ “PASSION 2025” ภารกิจใหม่ ภายใต้การนำทัพของ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เพื่อก้าวสู่ความเป็น ความเป็นผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ที่เติบโต มั่นคง ยั่งยืน ภายใต้ 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ สุรา, เบียร์, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และ อาหาร รวมถึงการดำเนินงานของหน่วยงานสนับสนุนธุรกิจที่ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลัง Vision 2020 ประสบผลสำเร็จทั้งในแง่ยอดขายและกำไร ส่งผลให้ไทยเบฟเป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ขับเคลื่อนสู่ PASSION 2025 ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการปรับแผนการดำเนินงานของบริษัท เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้า ภายใต้ 3 แนวทางหลักคือ 1. BUILD สรรสร้าง ขีดความสามารถ 2. STRENGTHEN เสริมแกร่งความเป็นหนึ่ง และ 3. UNLOCK สุดพลังศักยภาพไทยเบฟ
ทั้งนี้ไม่เพียงการก้าวสู่ผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรอันดับหนึ่งในอาเซียนเท่านั้น หากแต่อีกหนึ่งภารกิจของไทยเบฟในช่วงเวลานี้คือการปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับปัจจัยแวดล้อมภายนอก ไม่ว่าจะเป็น สภาพเศรษฐกิจกำลังซื้อที่ชะลอตัว พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา
“ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ทุกคนต้องเผชิญกับความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง กลุ่มไทยเบฟก็สามารถยังยืนหยัดพร้อมกับเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้มากกว่าเดิม ซึ่งแม้เราจะได้รับผลกระทบต่อยอดขายบ้าง ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา แต่จากการบริหารจัดการทั้งในแต่ละบริษัท การดูแลพนักงาน รวมไปถึงการบริหารช่องทางการจัดจำหน่ายของกลุ่มไทยเบฟทำให้สามารถผลิตและจัดส่งสินค้าได้ตามจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคและสามารถสร้างการเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้” นายฐาปน กล่าวและว่า
ทุกปีกลุ่มไทยเบฟใช้เงินลงทุนราว 5,000 ล้านบาท จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทต้องปรับแผนการลงทุน โดยใช้เม็ดเงินลงทุนราว 3,500 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการลงทุนด้านการบริหารจัดการ พร้อมทั้งต้องศึกษาความเสี่ยงในภาวะวิกฤติให้รอบคอบเสียก่อน
ด้านนายประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่, ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มบริหารช่องทางการจำหน่าย กล่าวว่า แผนงานในกลุ่มสุราจะใช้เงินลงทุนราว 1,500 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตโรงงานบรั่นดี “เมอริเดียน” (MERIDIAN) ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีในช่วงที่ผ่านมาในโรงงาน จ.นครปฐม
โดยเฟสแรกลงทุน 500 ล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิต 50% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2564 และเฟส 2 จะเพิ่มงบลงทุนอีก 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้มีการปรับแผนงานใหม่ในส่วนของการขยายช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ หลังมีประกาศ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563
อย่างไรก็ตามสำหรับการเติบโตของแต่ละแบรนด์ในกลุ่มตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า แบรนด์แสงโสม ที่มีการทำตลาดต่อเนื่อง สามารสร้างการเติบโตได้ 14%, เบลนด์ 285 เติบโตเพิ่มขึ้น 37% ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นผลมาจากผู้บริโภครายได้น้อยลงจากสภาพเศรษฐกิจ ทำให้มองหาสินค้าราคาย่อมเยา
แบรนด์เหล้ารัม “พระยา” (phraye rum elements) เครื่องดื่มรัมพรีเมี่ยมจะให้ความสำคัญกับการทำตลาดในยุโรปโดยเฉพาะและสุดท้ายกับ เมอริเดียน แบรนด์บรั่นดีไทย ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 50% และมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 8% หรือคิดเป็นยอดขาย 1 แสนลัง จากมูลค่าตลาดรวมบรั่นดีไทยกว่า 1.8-2 ล้านลังต่อปี
ขณะที่ในกลุ่มธุรกิจอาหาร ภายใต้การนำทัพของ “นงนุช บูรณะเศรษฐกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่, ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันร้านอาหารในเครือมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 649 สาขา จาก 24 แบรนด์ โดยปีนี้มีการขยายสาขาไปแล้ว 29 แห่ง ซึ่งแผนงานนับจากนี้จะให้ความสำคัญกับการเดินหน้าขยายสาขาใหม่ รีโนเวตสาขาเดิม
พร้อมทั้งการเสริมทัพความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ภายใต้งบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาที่ใช้เงินลงทุน 800 ล้านบาท โดยเฉพาะการมองหาโอกาสทางการเติบโตในกลุ่ม Food delivery และ homservice ควบคู่กับการชูกลยุทธ์ด้านดิจิตอลเพื่อเสิร์ฟไลฟ์สไตล์ลูกค้ายุคใหม่ให้เร็วขึ้น
“ปีนี้เรามีแบรนด์ Sakae พรีเมี่ยมชาบู ซึ่งเป็นอะลาคาร์ท มีแบรนด์ ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น โฮว ยู (Hou Yuu) ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงและจะขยายสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในกลุ่มแพ็กเกจฟู้ด ก็จะมีการขยายประเภท Ready to Eat และสินค้าสุขภาพเพิ่มเติม เพื่อรองรับแนวโน้มเทรนด์สุขภาพที่มาแรง”
อย่างไรก็ตามสำหรับอีก 2 กลุ่มธุรกิจอย่าง กลุ่มเบียร์ เน้นการสื่อสารผ่านตราสินค้า “ช้าง” สร้างประสบการณ์ เน้นบรรจุภัณฑ์และสินค้าที่ดี นอกจากนี้เตรียมเปิดตัวเบียร์ “Black Dragon” เพิ่มเติม จากเดิมที่มีการทำตลาดอยู่แล้ว วางเป้าหมายการเติบโตเป็นดับเบิ้ลดิจิตต่อไป ขณะที่กลุ่มเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์สร้างความหลากหลายของสินค้า ผ่านบริษัทในเครือ และ F&N รุกตลาดทั้งในและต่างประเทศ
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,615 วันที่ 4 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2563
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
3 ผู้นำองค์กรเอกชนจัด Big Event ความยั่งยืนแห่งปี