นายสัตว์แพทย์สรวิศ ธานี อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่าได้สั่งการชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท นำโดยนายจิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าชุด ร่วมกับพ.ต.ท. เกียรติชัย แสงศิลา ร.ต.อ. ศิษฎพงศ์ สิริวัฒน์ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ลงพื้นที่ตรวจสอบและขยายผล กรณีที่มีผู้ร้องเรียนผ่านกรมปศุสัตว์ว่ามีการลักลอบนำเนื้อสุกรมาปลอมแปลงให้เหมือนเนื้อโคและจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค บริเวณย่านคลองสามวา กรุงเทพฯ ในที่เกิดเหตุ พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบคนงานกำลังตัดแต่งบรรจุเนื้อสัตว์ จึงได้เข้าตรวจสอบ พบเนื้อโค เครื่องใน และเลือด 228 กิโลกรัม เนื้อสันคอโคตัดแต่งเป็นก้อน ถุงละ 1 กิโลกรัม รวม 50 กิโลกรัม และเนื้อโคนำเข้าจากประเทศอินเดีย 136 กิโลกรัม
โดยเนื้อทั้งหมดไม่สามารถแสดงแหล่งที่มาได้ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้อายัดเนื้อทั้งหมด พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ส่งตรวจห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อตรวจสอบหา DNA ของสุกร และจุลินทรีย์ก่อโรค หากพบว่ามีเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่เป็นอันตราย พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการนำเนื้อสัตว์ดังกล่าวไปทำลายตามระเบียบทางราชการ และหากพบว่าเนื้อสัตว์ดังกล่าวตรวจสอบพบ DNA สุกร จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีต่อไปให้ถึงที่สุด
สำหรับการกระทำความผิดในครั้งนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความผิด 3 ข้อหา ได้แก่ ไม่สามารถแสดงเอกสารใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ มีความผิดตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ไม่สามารถแสดงเอกสารรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ มีความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ไม่สามารถแสดงใบอนุญาตค้าสัตว์หรือซากสัตว์ มี.ความผิดตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบสถานประกอบการดังกล่าว พบว่ามีการจำหน่ายแบบออนไลน์ผ่านทางเฟซบุ๊ค โดยมีร้านชาบู ร้านค้าเนื้อสัตว์ และร้านอาหารอีสานทั่วประเทศ หลายแห่งสั่งเนื้อสัตว์เถื่อนเหล่านี้มาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงขอฝากไปยังผู้ประกอบการร้านอาหารและประชาชนทุกท่าน ได้โปรดเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ได้มาตรฐานการผลิตและสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้สร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค
โดยจัดทำโครงการปศุสัตว์ OK และหากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือพบเห็นการกระทำผิดด้านปศุสัตว์โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ที่ดาวน์โหลดและติดตั้งได้ในโทรศัพท์ทุกระบบ