นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ บอกว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคตกลง มีสาเหตุหลักมาจากการลาออกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่งผลต่อความไม่เชื่อมั่นทั้งในตลาดทุนและภาคธุรกิจ ที่จะกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยังมีเหตุการณ์การชุมนุม ที่สะท้อนจากดัชนีความคิดเห็นทางเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในเดือนกันยายน มีการปรับตัวลดลงอีกครั้งอยู่ที่ระดับ 29.2 หลังจากปรับตัวดีขึ้นในรอบ 18 เดือนในเดือนที่แล้ว อยู่ในระดับ 32.5
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนตุลาคม ยังต้องติดตามการขับเคลื่อนนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ และเหตุการณ์ชุมนุมที่ยังมีต่อเนื่อง รวมทั้งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ทั้งคนไทยเที่ยวไทย และเปิดรับชาวต่างชาติภายใต้เงื่อนไข เพราะต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เริ่มแบกรับสถานการณ์ไม่ไหว ที่อาจจะมีการปลดคนงาน หรือจ้างงานน้อยลง ทำให้ขาดรายได้ เกิดการกู้หนี้ยืมสิน และจากตัวเลขจีดีพีที่ติดลบ จะมีผลให้หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น ซึ่งในไตรมาสที่ 4 ถือเป็นช่วงสำคัญที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะมีเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการอุดหนุนทั้งหมดจาก บัตรสวัสดการแห่งรัฐ / คนละครึ่ง / และช๊อปดีมีคืน รวมกว่า 1 แสน 1 หมื่นล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ติดลบน้อยลง หดตัวจาก 6-7% เหลือเพียงติดลบ4-5% โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังคงประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะติดลบ7%ถึงลบ9% ส่วนในปีหน้า คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีแรก และทั้งปีภาพรวมจะขยายตัวได้3-4 %