นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ราคาข้าวเปลือกและข้าวสารที่ปรับราคาลดลง20-30% (อินโฟกราฟฟิก) ทำให้โรงสีที่มีสต๊อกและใช้เป็นหลักประกันค้ำวงเงินกับธนาคาร เมื่อมูลค่าสต๊อกลดลงก็จำเป็นที่ต้องใส่เงินคืนกลับธนาคาร หรือซื้อสินค้าข้าวเพิ่มเข้ามาเพื่อรักษามูลค่าสต๊อกเพื่อรักษาวงเงินที่ใช้กับสถาบันการเงิน ทำให้โรงสีที่สต๊อกไว้อาจมีปัญหาสภาพคล่องบวกกับจากเดิมโรงสีก็มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องอยู่แล้วก็จะยิ่งหนักขึ้น สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้ประกอบการประสบภาวะขาดทุน
สาเหตุที่ราคาปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้สิ้นค้าข้าวประสบปัญหาภัยแล้ง 2-3 ปีติดต่อกัน บวกกับปัญหาโควิดที่ทำให้เวียดนามหยุดการส่งออก ทำให้ช่วงที่ผ่านมาราคาข้าวเหวี่ยงตัวขึ้นไปในทิศทางบวกอย่างรุนแรง ซึ่งในขนะนี้ราคาข้าวถือว่ากำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุลของแต่ละชนิดข้าวเพื่อสอดรับกับทั้งกำลังซื้อและสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งการที่ราคาปรับลงนี้มองได้ทั้ง 2 มุม คือกรณีที่ผู้ประกอบการการที่ไม่มีสต๊อกมากนั้นถือเป็นผลดี แต่อาจมีปัญหาสำหรับผู้ประกอบการที่ถือสต๊อกไว้ในเรื่องของสภาพคล่องที่เดิมก็มีปัญหาสภาพคล่องอยู่แล้วอีกด้วย
ส่วนในทางด้านการส่งออกนั้นถือเป็นผลดีเนื่องจากที่ผ่านมามูลค่าราคาสินค้าข้าวของไทยปรับตัวสูงขึ้นมากทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง การที่ราคาปรับลงนี้จะทำให้ส่งออกได้ปริมาณมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเรียกส่วนแบ่งตลาดจากเดิมที่ไทยเคยเสียไปกลับมาได้ แต่ทั้งนี้มูลค่าข้าวเปลือกของเกษตรกรลดลง ภาครัฐควรจะต้องเร่งประกาศโครงการที่ทางภาครัฐได้เตรียมการเพื่อเข้ามาดูแลช่วยเหลือในจุดนี้ เช่นโครงการประกันรายได้ โครงการชะลอการขาย และอื่นๆ ซึ่งก็จะต้องรอทางภาครัฐประกาศออกมา เพื่อให้เกษตรกรได้อุ่นใจว่ารัฐมีมาตรการดูแล ส่วนสถานการณ์ "ข้าวเหนียว" ขณะนี้ รัฐจำเป็นที่จะต้องระวังเรื่องการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มงวด เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้เจอปัญหานี้ ซึ่งสะสมมานานแล้วและมีผลต่อราคาข้าวเหนียวบริโภคภายใน
จากการลงพื้นที่ดูข้าวหอมมะลิ ภาคอีสาน ได้สอบถามผู้ประกอบการและเกษตรกรในพื้นที่ ภาพรวมดีแม้ว่าบางพื้นที่จะกระทบแล้งจะมีหญ้าขึ้น แต่หญ้าเริ่มทรุดลง ข้าวเริ่มสูงขึ้นกว่าหญ้า (พื้นที่กระทบแล้งผลผลิตต่อไร่อาจลดลง) ตามข้อมูลที่รับมา และประเมินตามสายตา ถือว่าปีนี้ 2563/64 ดีกว่าปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่า วันที่ 20 ตุลาคมนี้ ข้าว กข.15 เริ่มทยอยเก็บเกี่ยว มากขึ้นตามลำดับ (ล่าช้ากว่าปกติ) และ ประมาณวันที่ 5 พฤศจิกายน ข้าวหอมมะลิ105 เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งการเก็บเกี่ยวของฤดูนาปี 63/64 ภาคกลางเกษตรกรปลูกข้าวตามน้ำ ซึ่งจะมีการเก็บเกี่ยว ต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป จะทำให้ผลผลิต ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกมาในเวลาใกล้เคียงกันอ ย่างไรก็ดี เมื่อผ่านช่วงที่ตลาดปรับสมดุลคาดว่าจะมีแรงซื้อกลับมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง