ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยสถานะ ณ ปัจจุบัน มีสินค้าไทยที่อยู่ระหว่างถูกประเทศคู่ค้าเปิดไต่สวนเพื่อกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน(CVD) และมาตรการปกป้อง(Safeguard : SG)รวมทั้งสิ้น 35 รายการ แบ่งเป็นมาตรการ AD 14 รายการ จาก 4 ประเทศ, มาตรการ CVD 2 รายการ จาก 2 ประเทศ และมาตรการ SG 19 รายการ จาก 8 ประเทศ
ทั้งนี้อันดับ 1 ของประเทศที่คู่ค้าที่เปิดไต่สวนสินค้าจากไทยมากสุด คือ อินเดียรวม 11 รายการ แบ่งเป็นมาตรการAD 9 รายการ, CVD 1 รายการ และ SG 1 รายการ สินค้าที่เปิดไต่สวนอาทิ เส้นใยสังเคราะห์,ฟีนอล, Phthalic Anhydride (พทาลิค แอนไฮไดรด์) ไฟเบอร์บอร์ด, ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ เป็นต้น
อันดับ 2 คือ ฟิลิปปินส์ เปิดไต่สวนสินค้าไทย 5 รายการ เป็นมาตรการ SG ทั้งหมด สินค้าที่เปิดไต่สวน อาทิ รถยนต์ , เหล็กแผ่นเคลือบอะลูมิเนียมสังกะสีชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน, เหล็กแผ่นเคลือบสี และ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน เป็นต้น
ส่วนอันดับ 3 มี 4 ประเทศที่เปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการกับสินค้าไทยประเทศละ 3 รายการเท่ากัน ได้แก่ สหรัฐฯ (อาทิ สินค้ายางรถยนต์โดยสารและรถบรรทุกขนาดเล็ก), ตุรกี (อาทิ แปรงสีฟัน), ยูเครน (อาทิ ดอกกุหลาบสด, ลวด) และแอฟริกาใต้ (อาทิ Bolts with hexagon heads or iron or steel) เป็นต้น
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อินเดียเป็นประเทศที่ปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศสูง จึงค่อนข้างใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช้ภาษี (NTBs) กับหลายประเทศทั่วโลกมาก ซึ่งรวมถึงสินค้าไทย เพื่อไม่ให้ขาดดุลการค้ามาก เห็นได้จากเวลานี้อินเดีย ยังไม่ขอเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค( RCEP หรืออาเซียนบวก 6) เนื่องจากเกรงว่าหากเข้าร่วมอินเดียจะยิ่งขาดดุลการค้ามาก เฉพาะอย่างยิ่งกับจีน และญี่ปุ่น
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า แนวโน้มการเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการ AD / CVD /SG ซึ่งสามารถทำได้ตามกรอบขององค์การการค้าโลก(WTO) มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยในส่วนของไทยก็มีสินค้าหลายรายการที่อยู่ระหว่างเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการกับประเทศคู่ค้าเช่นกัน ทั้งนี้ผลพวงจากโควิด-19 ทำให้การค้าโลกชะลอตัว สินค้าที่ผลิตของแต่ละประเทศล้นตลาด ต้องเร่งหาที่ระบาย ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งคือการขายราคาต่ำ ทำให้มีมีความเสี่ยงถูกตอบโต้ทางการค้า
จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ในปี 2562 การค้าไทย-อินเดียมีมูลค่ารวม 378,999 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 227,875 ล้านบาท และนำเข้า 151,124 ล้านบาท ไทยเกินดุลการค้า 76,751 ล้านบาท ส่วนการค้าไทย-อินเดีย ช่วง 8 เดือนแรกปี 2563 มีมูลค่ารวม 185,123 ล้านบาท(ลดลง 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) โดยไทยส่งออก 102,138 ล้านบาท(ลดลง 38%) นำเข้า 82,984 ล้านบาท(ลดลง 20%) ไทยยังเกินดุลการค้า 19,154 ล้านบาท
โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปอินเดีย 5 อันดับแรก ได้แก่ เคมีภัณฑ์, เม็ดพลาสติก, อัญมณีและเครื่องประดับ,เครื่องปรับอากาศและส่วนส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนสินค้านำเข้าของไทยจากอินเดีย 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ, เครื่องจักรกล, เคมีภัณฑ์, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม