ตัวเลขการส่งออกรายได้หลักของประเทศสัดส่วนเกือบ 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เริ่มติดลบลดลงต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคมล่าสุด ติดลบที่ -22.5%, -23.2%,11.4% และ -7.9% ตามลำดับ และเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้หลายสำนักพยากรณ์ปรับคาดการณ์ติดลบของการส่งออกและจีดีพีของไทยทั้งปีนี้ขยับดีขึ้น
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุด สรท. ได้ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 จากเดิมคาด -9% ถึง -10% เหลือ -8% ปัจจัยบวก คือ ความต้องการซื้อของโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เห็นได้จากยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากทั่วโลกที่ขยายตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มีความจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 ที่ไทยมีศักยภาพส่งออก อาทิ สินค้าอาหาร (ข้าวกลุ่มพรีเมียม ทูน่ากระป๋อง) สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานที่บ้าน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และสินค้าเพื่อการป้องกันการระบาดของโควิด เช่น ถุงมือยาง อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น
สรท.มองว่าเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาส 2 และการแพร่ระบาดของโควิดในต่างประเทศ เริ่มทรงตัว และหลายประเทศเริ่มมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย และในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ มองว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะเริ่มกลับมาดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงท้ายของปี มีหลายเทศกาลที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ทำให้มีการนำเข้าสินค้าเพิ่ม ทำให้มองว่าการส่งออกจะค่อย ๆ ดีขึ้น และการส่งออกปีหน้าคิดว่าน่าจะติดลบน้อยกว่าปีนี้
“ในสัปดาห์หน้า สรท.จะไปยื่นสมุดปกขาวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ถึงข้อเสนอแนะของภาคเอกชน เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องเร่งเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยถูกเป็นต้น”
นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 เริ่มฟื้นตัวพร้อมกับความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ หากไม่เกิดการ ระบาดระลอกใหม่ในไทยหรือสามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้ มองว่า เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 จะฟื้นตัวได้ต่อไป แต่ต้องมีการสนับสนุนจากมาตรการของรัฐที่ต่อเนื่องและตรงจุด ล่าสุด ณ เดือนตุลาคม 2563 กกร. ได้ปรับประมาณการส่งออกปี 2563 จะหดตัวในกรอบ -8% ถึง -10% จากเดือนกันยายนคาดการณ์ไว้ที่ -10% ถึง -12% จากการส่งออกไทยในช่วงไตรมาส 3 หดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้
“ส่งออกไทยไตรมาส 4 จะดีกว่า 3ไตรมาสที่ผ่านมา ปัจจัยจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งออกรถยนต์ที่กลับมาดีขึ้น จากความต้องการที่มีอย่างต่อเนื่อง”
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ไตรมาสที่ 4 ถือเป็นช่วงสำคัญที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะมีเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการอุดหนุนทั้งหมดจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่งและช้อปดีมีคืน รวมกว่า 1.1 แสนล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 จะติดลบน้อยลง ประเมินเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ จะติดลบ -7% ถึง -9% (จากเดิมคาด -9.4%) ส่วนปี 2564 คาดเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีแรก และภาพรวมทั้งปีจะขยายตัวเป็นบวกได้ หากรัฐบาลมีการสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง
“เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากสินค้าเกษตรหลายตัวของไทยเริ่มมีราคาที่ดี ไม่ว่าจะเป็นยางพารา มันสำปะหลัง รวมถึงเครื่องจักรกลการเกษตรที่มียอดขายเพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนโควิดน่าจะคลี่คลายได้ในกลางปี 2564”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3617 หน้า1 วันที่ 11-14ตุลาคม2563
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กกร.มั่นใจไตรมาส4 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว