นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากกรณี ไม่รับซื้อพันธุ์ “ข้าวหอมพวง” หรือ “ข้าวจัสมิน” มาจากสาเหตุ 4-5 ปี ที่ผ่านมานี้ เกษตรกรเพาะพันธุ์ข้าวกันเองทำให้ข้าวในนามีคุณภาพไม่ดีสีแล้วได้ปริมาณข้าวสารต่ำ ทางกรมการข้าวไม่ได้รับรองพันธุ์ เพราะกรมฯกำลังทยอยพันธุ์ข้าวที่ได้รับรองพันธุ์ใหม่ ออกมาปีละ2 สายพันธุ์ ซึ่งจะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากกว่า
“ที่ผ่านมาทางผมกับ นายกเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ผลักดันการทำงานร่วมกัน ระหว่าง "ชาวนา" กับ "โรงสีข้าว" จนเกิดเป็น "กำแพงเพชรโมเดล" และพื้นที่ภาคกลางบางจังหวัด เกิดเป็นคลัสเตอร์ข้าว เพื่อให้เป็นโครงการนำร่อง ให้พี่น้องชาวนาและเกษตรกรไทยเข้าร่วมกลุ่มแล้วมาขับเคลื่อนเรื่องข้าวคุณภาพ เพื่อประกันความเสี่ยงในอาชีพของเรา”
สอดคล้องกับ นายสานิตย์ จิตต์นุพงศ์ ประธานยุทธศาสตร์และอุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยภาคกลางตอนบน เล่าให้ฟังถึงที่มาของ" "กำแพงเพชรโมเดล คนกำแพงกินข้าวกำแพง" ว่า สำหรับข้าวพื้นนุ่ม เป็นข้าวชนิดใหม่ที่เพิ่งรับรองพันธุ์ใหม่ออกมารองรับตลาดของผู้บริโภคทั่วโลก โดยชนิดข้าวพื้นนุ่มที่ตลาดต้องการมากคือ "ข้าวพันธุ์กข79" และ “ข้าวพันธุ์กข43” แต่ละสายพันธ์มีจุดอ่อนจุดแข็ง และมีความต้องการของลูกค้าไม่เท่ากันโดยเฉพาะ “กข43” นี้ เป็นข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ(LowGI) เป็น ข้าวตลาดเฉพาะ ซึ่งปกติแล้ว โรงสีทั่วไปจะสีข้าวตลาดแมส หรือตลาดทั่วไป เพราะระบบการผลิตสมัยนี้ต้องใช้ปริมาณข้าวเปลือกจำนวนมากจึงจะคุ้มค่าการผลิต
ในขณะที่ “กข79” เป็นข้าวนุ่มหุงขึ้นหม้อ ลักษณะกายภาพเมล็ดยาวซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของข้าวไทย ข้าวสารสวยเป็นที่ต้องการในตลาดแมส เป็นข้าวต้านทานโรค ไม่ชอบน้ำเยอะ เป็นข้าวอายุยาวนานแต่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ตอนนี้จึงตอบโจทย์ตลาดและโรงสี ดังนั้นกลุ่มข้าวGAP ขาณุ อำเภอขาณุวรลักษบุรี กำแพงเพชรจึงเลือก “กข79” มาทดลองปลูกในปี2563 จำนวน 3,500 ไร่และกลุ่มอำเภอบึงสามัคคี 500 ไร่
นายฉัตรชัย มาฉาย สจ.อำเภอขาณุวรลักษบุรี และประธานกลุ่มข้าวGAPขาณุ กล่าวเสริมว่า กลุ่มข้าว GAPขาณุ ได้ขอให้สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยขอให้กรมการข้าวสนับสนุนการเพาะปลูกพันธุ์ข้าว กข79 และ ขอให้สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ประสานมือกับสมาคมโรงสีข้าวไทย แนะนำโรงสีข้าวที่มีความชัดเจนในตลาดข้าวในประเทศและโรงสีที่มีตลาดส่งออกเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันใน “ฐานะหุ้นส่วนธุรกิจ” ไม่ใช่ผู้รับจ้างผลิต โดยจะนำข้าวเปลือกคุณภาพของกลุ่มไปส่งมอบให้โรงสีเพื่อป้องกันการปลอมปนข้าวของพ่อค้าข้าวเพราะขาดองค์ความรู้ในข้าว ที่ผ่านมาผู้ส่งออกจึงมักเจอปัญหาเรื่องข้าวปลอมปนและกล่าวหาชาวนามาตลอดเวลา ซึ่งวันนี้ทางกลุ่มทยอยส่งมอบข้าวเปลือกให้โรงสีที่ร่วมกันสร้างคลัสเตอร์ข้าวทางกลุ่มใช้ลานข้าวในพื้นที่โดยนายก อบต.แสนตอ อาสาเป็นผู้ประสานงานให้กลุ่มในขณะนี้เราก็ได้กันข้าวเปลือกส่วนหนึ่งไว้แปรรูปเป็นข้าวสารเพื่อสุขภาพ ของพวกเราและชุมชนของเรา ตามแนวทาง "คนกำแพงกินข้าวกำแพง" ซึ่งจะออกสู่ตลาดเดือนธันวาคมนี้