"การบินไทย" ปรับแผนลงทุน MRO อู่ตะเภา อีอีซี รื้อเกณฑ์ใหม่

19 ต.ค. 2563 | 01:48 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2563 | 04:13 น.

การบินไทย ปรับแผนลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา รับแผนฟื้นฟูกิจการ เปิดกว้างหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ ขณะที่อีอีซี รื้อเกณฑ์ลงทุน MRO เฟส1 ใหม่ หลังทีจี ติดหล่มพ้นรัฐวิสาหกิจ ทำ PPPสะดุด ทั้งเตรียมทำมาร์เก็ตซาวดิ้งใหม่ MRO เฟส 2 เหตุไม่แน่ใจพิษโควิด-19 เอกชน 3-4 รายที่เคยแสดงความสนใจ จะเดินหน้าลงทุนต่อหรือไม่

          หลังจาก บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย และบริษัทฯได้ยืนยันเจตจำนงไปยังกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และกองทัพเรือ(ทร.)ไปแล้ว ถึงการดำเนิน โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา(MRO) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภาต่อไป รวมถึงยังได้บรรจุการลงทุนMRO อู่ตะเภา เป็นหนึ่งในแผนเพิ่มรายได้ของบริษัท ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยที่อยู่ระหว่างทำแผน เพื่อเตรียมเสนอให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาอีกด้วย
          อย่างไรก็ตามด้วยสถานะของการบินไทย ที่ พ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่งผลกระทบต่อการให้สิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลให้การบินไทย เป็นเจ้าของโครงการ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) อู่ตะเภา เฟส1 บนพื้นที่ 200 ไร่ โดยให้ไปดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีการประมูล(PPP) โดยเอกชนลงทุน (อุปกรณ์) 4,255 ล้านบาท และภาครัฐลงทุน (โครงสร้างพื้นฐาน)โดยกองทัพเรือ 6,333 ล้านบาท แลกกับการจ่ายค่าเช่า และส่วนแบ่งรายได้ที่จะมอบให้รัฐ

\"การบินไทย\" ปรับแผนลงทุน MRO อู่ตะเภา อีอีซี  รื้อเกณฑ์ใหม่

            วิธีการลงทุนดังกล่าวจะไม่สามารถดำเนินการได้แล้วจากการเปลี่ยนแปลงสถานะภาพของการบินไทยที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลและอีอีซี จะต้องไปหาวิธีการว่าจะให้การบินไทยเข้ามาลงทุนได้ในรูปแบบใด เพราะ MRO อู่ตะเภา เป็น 1 ใน 5 โครงการสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองการบินภาคตะวันออกของรัฐบาล

            แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบัน  อีอีซี ยังคงต้องรอความชัดเจนของการบินไทยก่อนว่าจะมีการบรรจุแผนลงทุน MRO อู่ตะเภา ไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยหรือไม่ แม้การบิน ไทยจะแจ้งความจำนงว่าจะดำเนินการต่อ แต่ต้องรอแผนฟื้นฟูที่จะออกมาอย่างเป็นทางการเสียก่อน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาสแรกปี 2564

          ทั้งยังต้องรอความเห็นชอบจากฝ่ายเจ้าหนี้ของการบินไทยด้วยว่าจะเห็นชอบให้ลงทุน MRO อู่ตะเภาด้วยหรือไม่ ถ้ามีความชัดเจนแล้ว อีอีซีจะพิจารณาอีกทีว่าจะให้การบินไทยเข้ามาลงทุน MRO เฟส 1ในรูปแบบใด

\"การบินไทย\" ปรับแผนลงทุน MRO อู่ตะเภา อีอีซี  รื้อเกณฑ์ใหม่

            ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อยุติ แต่มีความเป็นไปได้ว่าจะใช้วิธีการให้ อีอีซี เป็นเจ้าของโครงการแทนการบินไทย โดยอีอีซีจะเป็นผู้ดำเนินการหาผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน ขณะที่การบินไทยจะขยับมาเป็นส่วนของผู้ร่วมลงทุนแทน และต้องวางไทม์ไลน์ให้เดินไปคู่ขนานกับแผนฟื้นฟูของการบินไทยที่ลงทุน MRO ของการบินไทย ทางอีอีซีจะรอได้หรือไม่ หรือจะต้องวางไทม์ไลน์ให้เดินไปคู่ขนานกับแผนฟื้นฟูของการบินไทยที่จะมีเรื่องการลงทุนMRO ในพื้นที่ดังกล่าว

\"การบินไทย\" ปรับแผนลงทุน MRO อู่ตะเภา อีอีซี  รื้อเกณฑ์ใหม่
            โดยการบินไทยสามารถไปหาผู้ร่วมทุน เข้ามาเสนอตัวดำเนินโครงการนี้ โดยอาจจะกลับไปเจรจากับทางแอร์บัสใหม่อีกครั้ง หรือจะลงทุนเองแต่ใช้เทคโนโลยีของแอร์บัส หรือจะหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ หรืออีอีซี อาจจะให้การบินไทย เข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อประกอบการ ก็ต้องไปหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุด โดยที่การลงทุนในส่วนของภาครัฐ ก็ยังคงยึดเม็ดเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในวงเงินเดิมที่วางไว้

            นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อีก 300 ไร่ ที่จะมีโครงการ MRO เฟส 2 ซึ่งจะเปิดให้เอกชนรายอื่นที่สนใจเข้ามาลงทุน เดิมมีเอกชนแสดงความสนใจราว 3-4 ราย ไม่ว่าจะเป็น บริษัทเอสไอเอ เอ็นจิเนียริง ของสิงคโปร์ แอร์ไลน์, แอร์เอเชีย มาเลเซีย,บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA

             แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ก็ส่งผลกระทบต่อ ธุรกิจการบิน เป็นอย่างมาก ดังนั้นตอนนี้จะต้องมีการทำมาร์เก็ตซาวดิ้งใหม่ว่าเอกชนรายอื่นๆยังคงสนใจจะลงทุนเหมือนเดิมอีกหรือไม่ ขณะเดียวกันอีอีซี ยังต้องสรุปกับการบินไทยให้ชัดเจนก่อนว่า MRO เฟส 1 จะใช้พื้นที่200 ไร่หรือจะใช้มากกว่านั้น จึงจะทราบว่าMRO เฟส2 จะเหลือพื้นที่เท่าไหร่ ทั้งนี้หากได้ข้อสรุป อีอีซี วางไทมไลน์ไว้ว่าในช่วงกลางปี2564จะเปิดให้เอกชนที่สนใจเสนอตัวเข้าลงทุนต่อไป

\"การบินไทย\" ปรับแผนลงทุน MRO อู่ตะเภา อีอีซี  รื้อเกณฑ์ใหม่

            ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุน MRO อู่ตะเภา จะเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนรายได้ของฝ่ายช่างอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนการลงทุนMRO อู่ตะเภา ภายใต้ แผนฟื้นฟู ยอมรับว่าต้องปรับเป้าหมายด้านผลตอบแทนในการลงทุนใหม่ เพราะโควิด-19 ทำให้มีการจอดเครื่องบินเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มูลค่าตลาดหายไป กระทบต่อการสร้างรายได้อาจจะต้องลดลงไปราว 30% จากแผนลงทุนที่การบินไทยทำไว้ก่อนหน้าโควิด

            โดยรายได้จะหายไป 28 เดือน จากแผนเดิมที่วางไว้ว่า MRO จะเปิดให้บริการในกลางปี 65 ไปเป็นเปิดบริการในปี 67 แต่การเปิดในช่วงดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะถึงตอนนั้นสถานการณ์ธุรกิจการบินก็คงฟื้นตัวแล้ว และหากสายการบินกลับมาเปิดทำการบินแล้ว MRO จะเป็นธุรกิจต้นๆ ที่จะได้รับประโยชน์ เพราะเมื่อเกิดการบินก็ต้องมีการซ่อมบำรุง

            “แม้การลงทุน MRO ของการบินไทย จะไม่เข้าข่าย PPP แล้ว แต่การลงทุนที่เกิดขึ้น การบินไทย ยังมองว่าจะหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ในลักษณะเปิดกว้าง เชิญชวนให้เข้ามาลงทุน ภายใต้เกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างของการบินไทย บนเงื่อนไขที่ว่า การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าว การบินไทยจะต้องมีอำนาจในการควบคุมดูแลเป็นส่วนใหญ่ คาดว่าจะเปิดหนังสือเชิญชวนได้ภายในปี2564 และจะทำสัญญากับอีอีซีในการเข้าไปลงทุน

            ส่วนเม็ดเงินลงทุนจะลงทุนจริงก็อีก 2 ปีกว่า เพราะต้องรอให้กองทัพเรือถมดิน และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเสร็จเสียก่อน” แหล่งข่าวกล่าวทิ้งท้าย

ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3,619 วันที่18-21 ตุลาคม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
การบินไทย หารือ กองทัพเรือ ยืนยัน เดินหน้าMRO อู่ตะเภา
ฟื้น "การบินไทย" MRO จ่อสะดุด ทบทวนสิทธิลงทุนใหม่
เปิดหนังสือ แอร์บัสเมิน MROอู่ตะเภา
ประมูล MRO 'อู่ตะเภา' เจาะจง 'แอร์บัส' ร่วมทุน!
MROรายได้5.5แสนล. ทีจีร่วมทุนแอร์บัส 50 ปี เกิดการจ้างงานคิดมูลค่า8หมื่นล.
ยื้อศูนย์ MRO ‘แอร์เอเชีย’ ‘อุตตม’ยันเงื่อนไขยังไม่ได้ข้อยุติ ต้องดูความคุ้มค่า
AAVผุด3โปรเจ็กต์โตยั่งยืนดึงพันธมิตรต่างชาติลงทุนMROอู่ตะเภา​​​​​​​