นกแอร์ ฉลุยทำแผนฟื้นฟู เจ้าหนี้หนุนเกิน50% ศาลฯไต่สวน27ต.ค.นี้

25 ต.ค. 2563 | 06:00 น.

เจ้าหนี้รายใหญ่เกิน 50% หนุน “นกแอร์” ทำฟื้นฟูกิจการ รอศาลล้มละลายกลางไต่สวน 27 ตุลาคมนี้ วาง 3 ช่องทางฟื้นธุรกิจ

เจ้าหนี้รายใหญ่เกิน 50% หนุน “นกแอร์” ทำฟื้นฟูกิจการ รอศาลล้มละลายกลาง ไต่สวน 27 ตุลาคมนี้  วาง 3 ช่องทางฟื้นธุรกิจ

โฟกัสปรับโครงสร้างหนี้-หาผู้ร่วมทุน ปรับปรุงเครือข่ายรู้ทบินขยายบินระยะกลางโมเดลเหมือนนกสกู๊ตเดิม ขยายช่องทางขายผ่านบริษัท ที่กลุ่มจุฬางกูร ถือหุ้นใหญ่อยู่ ยันไม่มีแผนปรับลดพนักงาน มีแต่จะเพิ่มลูกเรือและนักบิน รองรับการเพิ่มเครื่องบิน
        หลังจากบริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อ ศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 30 กรกฏาคม2563 ด้วยมูลค่าหนี้สิน 2.6 หมื่นล้านบาท ( ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563) และศาลฯนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ ซึ่งมีแนวโน้มว่านกแอร์ จะได้ทำแผนฟื้นฟูกิจการตามที่ร้องขอ เนื่องจากมีเจ้าหนี้ลงนามสนับสนุนให้นกแอร์ทำแผน คิดเป็นจำนวนหนี้มากกว่า 50% ของจำนวนหนี้ทั้งหมดแล้ว

ทั้งนี้นกแอร์มีเจ้าหนี้ทั้งหมดราว 500-600 ราย ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้รายย่อย ขณะที่เจ้าหนี้รายใหญ่หลักๆจะเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินในต่างประเทศกว่า 10 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน รวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้ยืม ร่วม 3 พันล้านบาท คือ “หทัยรัตน์ จุฬางกูร” ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็สนับสนุนสายการบินฟื้นฟูกิจการเช่นกัน

นกแอร์ ฉลุยทำแผนฟื้นฟู เจ้าหนี้หนุนเกิน50% ศาลฯไต่สวน27ต.ค.นี้
        โดยนกแอร์ได้เสนอผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบไปด้วย บริษัทแกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ๊ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับนายปริญญา ไววัฒนา ,นายไต้ ชอง อี, นายเกษมสันต์ วีระกุล,นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร และนายชวลิต อัตถศาสตร์ กรรมการของบริษัทฯ
         แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในวันที่ 27 ตุลาคม 2563 หากศาลล้มละลายกลาง เห็นชอบให้นกแอร์ ในฐานะลูกหนี้  เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ คาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือน เพื่อจัดทำรายละเอียดแผนฟื้นฟูให้แล้วเสร็จ จากนั้นจึงจะเสนอศาล เพื่อขออนุมัติและบริหารแผนฟื้นฟูต่อไป
         สำหรับกรอบการฟื้นฟูกิจการของนกแอร์ ที่นำเสนอต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในวันนัดไต่สวนวันที่ 26 ตุลาคมนี้ จะมี 3 ช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ ได้แก่

1. การปรับโครงสร้างหนี้ และโครงสร้างทุน เช่น การจัดสรรแหล่งเงินเพิ่มเติม การหาพันธมิตรธุรกิจหรือเพิ่มทุน วางแผนระยะยาว ในการหาผู้ร่วมลงทุน เพื่อนำเงินมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาธุรกิจ ปรับโครงสร้างหนี้ และชำระหนี้
       2. การบริหารจัดการกิจการของนกแอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เช่น การปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบิน ปรับฝูงบิน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน เพิ่มความถี่ในเที่ยวบินที่มีดีมานต์ในการเดินทางและลดความถี่ในเที่ยวบินที่มีความต้องการในการเดินทางไม่มาก  การเพิ่มเที่ยวบินเช่าเหมาลำ
        รวมถึงการปรับปรุงกลยุทธด้านการพาณิชย์ เช่น การหารายได้ ในช่องทางใหม่ๆเพิ่มขึ้น อย่างการสร้างรายได้จากการขนส่งสินค้า(คาร์โก้) ในเส้นทางบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น การหารายได้ในรูปแบบใหม่ร่วมกับพันธมิตร โดยการทำ Commission Base Service ในลักษณะการขายตั๋วเครื่องบินรวมกับโรงแรมหรือรถเช่า

การเพิ่มโอกาสในการขายบัตรโดยสาร โดยปรับปรุงแอพพลิเคชั่นในการจองให้ตอบโจทย์ลูกค้า เพราะลูกค้าบางรายก็อาจจะใช้มือถือในการจองตั๋วไม่เป็น การปรับปรุงระบบปัญญาประดิษฐ์(AI)โดยใช้บิ๊กดาต้าในการทำตลาดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้
          การขยายช่องทางการจัดจำหน่ายตั๋วโดยสาร การจัดกิจกรรมกระตุ้นการขายต่างๆ ผ่านบริษัทต่างๆที่กลุ่มจุฬางกูร ถือหุ้นใหญ่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือซีเอ็ด ที่มีอยู่ 350 สาขา บริษัทซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน)หรือASAP ซึ่งเป็นธุรกิจรถเช่า

ธุรกิจในเครือซัมมิท อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม สนามกอล์ฟก็จะขยายให้สามารถจำหน่ายตั๋วเครื่องบินนกแอร์ให้มากขึ้น บริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งก็หารือถึงการจัดกิจกรรมรร่วมกับดารา เพื่อผลักดันยอดขายตั๋ว                
         3.การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ซึ่ง นกแอร์จะเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานเป็นหลัก นำระบบไอทีมาใช้เพื่อลดขั้นตอนลดต้นทุน เช่น การลดการใช้กระดาษให้น้อยลง การควบคุมรายได้-ค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับกระแสเงินสด การปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น 
         ตามกรอบแผนฟื้นฟูกิจการนกแอร์จะไม่มีการลดพนักงาน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 1,517 คน  แต่มีแผนจะเพิ่มจำนวนนักบินและลูกเรือเพิ่มขึ้น เนื่องจากนกแอร์มีแผนจะนำเครื่องบินเข้ามาดำเนินธุรกิจเพิ่ม จากปัจจุบันมีเครื่องบินให้บริการอยู่ 27 ลำ เป็นการให้บริการในไทย 27 ลำ และให้เช่าในต่างประเทศอีก 3 ลำ 
        เพราะนกแอร์ มีแผนจะขยายเส้นทางบินไปยังจุดบินจากให้บริการเที่ยวบินระยะใกล้ในต่างประเทศ ขยายเพิ่มไปสู่เที่ยวบินระยะกลาง เพื่อให้บริการเที่ยวบินไปญี่ปุ่น เหมือนที่สายการบินนกสกู๊ต ที่นกแอร์เคยเข้าไปร่วมลงทุนก่อนหน้านี้ เคยทำการบินอยู่ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย หลังจากมีวัคซีนเกิดขึ้น
       นอกจากนี้นกแอร์ จะมีความร่วมมือกับการบินไทยด้วย โดยการซ่อมบำรุงเครื่องบิน จากเดิมที่นกแอร์ จะต้องไปที่ต่างประเทศ ต่อไปก็จะใช้บริการของการบินไทย และหารือร่วมกับการบินไทยและไทยสมายล์ ในการวางตารางเที่ยวบิน ไม่ให้ทับซ้อนกัน เพื่อไม่แข่งขันกันเอง 

ข่าวหน้า1หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3261 วันที่ 25-28 ตุลาคม 2563

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลล้มละลายกลาง รับฟื้นฟู นกเเอร์ ติดหนี้ 2.6หมื่นล้านบาท

‘นกแอร์’ วิบากกรรม ‘จุฬางกูร’ ถม 1.5 หมื่นล.ยังเอาไม่อยู่ 

สายการบินดิ้น บี้ลดต้นทุนเพิ่ม ‘จุฬางกูร’ ยันไม่ทิ้ง นกแอร์

นกแอร์ ยันยังบินปกติ แจง 5 ประเด็น ยื่น ฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง