เดิมที่ว่า ยากอยู่แล้ว ยากขึ้นเป็นสองเท่า สำหรับการเข้าซื้อเทสโก้ โลตัส ของกลุ่มซีพี จากวิกฤติอุตสาหกรรมค้าปลีกที่ถูกดิสรัปต์จากพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล แถมซื้อขายในราคาสูง และต้องมาเจอกับความท้าทายอีก หลังโควิด-19 เพราะอุตสาหกรรมค้าปลีก ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
“เทสโก้" ซึ่งเป็นหนึ่งในเชนค้าปลีกรายใหญ่ของอังกฤษ ก่อตั้งโดย "แจ็ก โคเฮน" ในปี 1919 หรือ พ.ศ. 2462 และขยายสาขาไปใน 11 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ซึ่งเทสโก้เข้ามาซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเทม จำกัด ผู้บริหารเชนค้าปลีก "โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์"จาก เครือซีพี เมื่อปี 2541 และเปลี่ยนชื่อเป็น "เทสโก้ โลตัส" จนปัจจุบันมีสาขาในรูปแบบต่าง ๆ รวม 1,967 สาขาทั่วประเทศ
“เทสโก้” ต้องเจอคลื่นวิกฤติหลากหลาย ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งมีปัญหาการแจ้งตัวเลขกำไรเกินจริง ทำให้ต้องจ่ายค่าปรับกว่า 214 ล้านปอนด์ และมูลค่าในตลาดหุ้นหายไปกว่า 50% จนเทสโก้ต้องประกาศจะปลดพนักงาน 4,500 ตำแหน่งในส่วนของเทสโก้ เมโทร ซึ่งมีสาขาอยู่ในประเทศอังกฤษ เพื่อลดค่าใช้จ่าย
กระทั่ง ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจขนานใหญ่ ทั้งการบริหาร การเงิน รวมถึงหันไปโฟกัสธุรกิจในอังกฤษมากยิ่งขึ้น ทำให้ยักษ์ค้าปลีกทยอยขายกิจการในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น เกาหลีใต้ ตามด้วยตุรกี โปแลนด์ หลังจากขายธุรกิจในฝรั่งเศส สหรัฐ จีน และญี่ปุ่นไปก่อนแล้ว
ดังนั้น การขายธุรกิจเทสโก โลตัส ในไทย จึงเป็นการรักษาชีวิตในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ที่มีซีพีมารับช่วงต่อในการดึงหัวเรือ ไม่ให้จมลงสู่ก้นทะเล และถือว่า เป็นการรักษาอุตสาหกรรมไฮเปอร์มาร์ทในประเทศไทยให้อยู่รอด ซึ่งต้องใช้ความพยายามมากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะอุตสาหกรรมแย่อยู่แล้ว ยังมาเจอโรคระบาดโควิดซ้ำเติม
รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ช่องทางการจัดจำหน่าย จะทำให้เกิดการหมุนเวียนสินค้า หากยังสามารถรักษาอุตสาหกรรมให้อยู่รอด จะช่วยให้ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่ สามารถซื้อขาย ได้ตามปกติ เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจหลายรอบ
ทั้งนี้หากเทียบกับอวัยวะในร่างกายคนเรา อาจพูดได้ว่า ไฮเปอร์มาร์เก็ตเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่คอยกระจายเลือดและสารอาหารสู่อวัยวะส่วนต่างๆ และยังทำหน้าที่คอยสนับสนุนกระดูกสันหลังที่จะว่าไปแล้ว ก็หมายความถึงอาชีพที่เป็นเสาหลักของประเทศ นั่นก็คือ เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ซึ่งอาจรวมไปถึงผู้ผลิตสินค้า ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ให้สามารถกระจายสินค้าไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศได้ รวมถึงการจ้างงาน ส่งเสริมให้คนประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศดีขึ้น
“หากเรามองเห็นว่า เส้นเลือดใหญ่ของประเทศที่ว่านี้ มีความสำคัญเพียงใดต่อระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในประเทศเราเองแล้ว แต่เส้นเลือดใหญ่นี้เอง กลับมีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของเสียอย่างนั้น และเป็นต้นเหตุสำคัญทำให้เลือดที่นำพาสารอาหารไหลออกนอกร่างกายของเราไป จะดีกว่าหรือไม่ที่เส้นเลือดใหญ่ของประเทศไทยเราจะกลับมาเป็นเราเอง"รศ.ดร.วิเลิศกล่าว
ทั้งนี้ จากรายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก(Global Competitiveness Index: GCI) โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับ World Economic Forum (WEF) เพื่อวัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือ ตลาด (Market) ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วนคือ ตลาดสินค้า และตลาดแรงงาน ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดกระแสไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจ
โดยตลาดสินค้าคือ การสนับสนุนให้มีการผลิตและพัฒนาสินค้า ส่งเสริมให้สินค้าเข้าถึงประชาชนทุกแห่ง รวมไปถึงการแข่งขันด้านราคาเพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ส่วนตลาดแรงงานคือ การส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานกับประชาชนทุกพื้นที่ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจไหลเวียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลก ทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนต่างพยายามสร้างให้เกิดแรงกระเพื่อมนี้ผ่านกลไกและเครื่องมือทางเศรษฐกิจมากมายในมิติของตลาดทั้งสองส่วนดังกล่าว
รศ.ดร.วิเลิศกล่าวว่า อีกหนึ่งตลาดหรือช่องทางจำหน่ายสินค้า ที่จะเป็นตัวช่วยเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในยุคนี้ได้คือตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่สนับสนุนทั้งตลาดสินค้า โดยการรวบรวม คัดสรรค์ ตรวจสอบคุณภาพสินค้าทุกประเภท พร้อมทั้งช่วยเหลือผู้ผลิตอาหาร เกษตรกร และผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า และอื่นๆ อีกมากมายในการมีช่องทางจัดจำหน่ายที่มีระบบมาตราฐานสากล ให้ถึงมือผู้บริโภคในทุกพื้นที่ของประเทศในราคาที่เหมาะสม อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ในตลาดแรงงานทั่วประเทศอย่างชัดเจน
ขณะที่ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกทุกวันนี้ยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางสำคัญ จึงต้องทำการแข่งขันกันอย่างเหมาะสม ทุกคนสามารถอยู่รอดได้ จึงจะเกิดความยั่งยืน เช่น แข่งขันกันลดราคา หรือยอมขาดทุน ซึ่งผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ การใช้อำนาจกดดันซัพพลายเออร์ ทำให้ซัพพลายเออร์ล้มเหลวในการทำธุรกิจ ธุรกิจย่อมตระหนักได้อยู่แล้วว่า จะเป็นผลร้ายต่อบริษัทเอง เพราะจะไม่มีซัพพลายเออร์นำสินค้ามาขายให้
ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากลไกของธุรกิจมีการสอดประสานกันอยู่แล้ว ดังนั้นเชื่อว่า กลุ่มซีพี ย่อมหาแนวทางที่ทำให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย เพื่อรักษาอุตสาหกรรมภาพรวมไว้แบบยั่งยืน
“ปัจจุบันแม้กลุ่มซีพีจะมีธุรกิจแม็คโครและเซเว่นอีเลฟเว่นอยู่ในมือ แต่การดำเนินธุรกิจ แยกตลาดกันอย่างชัดเจน แม็คโครเน้นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ส่วนเซเว่นอีเลฟเว่น เน้นตลาดเจาะกลุ่มสะดวกซื้อ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีคู่แข่งอย่างชัดเจน ซึ่งในทางปฏิบัติกลุ่มซีพีไม่สามารถผูกขาดตลาดได้”
ไม่เพียงเท่านั้น ทุกบริษัทในเครือซีพี อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการกำกับดูแลด้านความโปร่งใส และมีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว จึงเชื่อว่า ไม่มีการกดราคาคู่ค้าและซัพพลายเออร์ต่างๆ และในอนาคตกลุ่มซีพีอาจมีวิธีการบริหารจัดการต้นทุนกระจายสินค้า ทำให้ต้นทุนการดำเนินการลดลง ราคาสินค้าอาจจะถึงมือผู้บริโภคในราคาที่ถูกลง ซึ่งจะผลักดันให้ตลาดค้าปลีกมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทั้งหมดก็เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ซีพีซื้อโลตัส’ฉลุย บอร์ดแข่งขันเคาะกลางต.ค.นี้
กมธ.ถกลับ “ซีพี” ควบรวม “โลตัส” ผูกขาดการค้าหรือไม่?