นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากราคา "ยางแผ่นรมควัน" ที่พุ่งสูงต่อเนื่อง 80 บาท/กก. เราได้ทราบข่าวมาว่า ใน "วันเสาร์-อาทิตย์" นี้ พ่อค้า หรือ 5 เสือยางพารา จะรวมหัวกันทุบราคาผ่านตลาดล่วงหน้า โดยจะกดราคายางแผ่นให้ลง 10 บาท/กิโลกรัม ในช่วง 2-3 วัน นับจากนี้ ทาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และ รัฐบาล รู้ทัน เราเตรียมการตั้งวอรูมเพื่อแก้ไขปัญหามาหลายเดือนแล้ว ดังนั้นเมื่อวาน(30 ต.ค.) ซึ่งเป็นวันศุกร์ เมื่อพ่อค้ากดราคาในตลาดกลางไม่ได้ เลยใช้วิธีกดราคารับซื้อยางหน้าโรงงาน แต่ก็สวนทางกับราคาน้ำยางสดและยางก้อนถ้วยที่พุ่งสูงขึ้น และในวันเสาร์อาทิตย์นี้ 31 ต.ค.และ 1 พ.ย.2563 ซึ่งเป็นวันหยุด ตลาดกลางยางพาราปิด พ่อค้าเลยวางแผนใหม่ จะทุบราคายางแผ่นรมควันในตลาดเอกชนให้ลงมาอย่างน้อย 6 บาท/กก. เพื่อกระชากราคายางชนิดอื่นลงไปด้วย
“แผนอันชั่วช้าเพื่อหาประโยชน์จากคราบน้ำตาของชาวสวนยางนี้ เราเตรียมรับมือโดยการสื่อสารถึงทุกสถาบันที่มียางแผ่นรมควัน ห้ามขายยางในช่วงเสาร์และอาทิตย์นี้โดยเด็ดขาด อย่าตกใจ พ่อค้าจะกินหมูเนื้อแดง โดยสมคบคิดกับโรงงาน เพราะเรื่องจริงคือทั่วโลกไม่มียาง และที่ผ่านมา คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ใช้ พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ของกระทรวงพาณิชย์ ควบ พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 ซึ่งกำกับโดยคุณเฉลิม ชัยศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นครั้งแรก ในการไล่ตรวจสต็อกโรงงานของเอกชน ซึ่งมีเห็นว่าปริมาณยางในสต็อกเอกชนมีน้อยมาก ดังนั้นมาลองประลองกำลังระหว่าง "โรงงานไม่มียาง" เข้าในไลน์การผลิต (raw material) จะขาดทุนยับเยินแค่ไหน
ส่วนชาวสวนยางเราเจ็บมาจนชินแล้ว "ชะลอการขายยาง" เก็บยางไว้ใต้ถุนบ้าน สักเดือนจะเป็นไรไป ดังนั้นเพื่อสกัดแผน ไม่ให้ชาวสวนตกเป็นเหยื่อจึงขอความร่วมมือให้พี่น้องที่มียางแผ่นช่วย ชะลอการขายยาง 2 วัน (เสาร์-อาทิตย์) แล้วไปขายในตลาดกลางในวันจันทร์ที่ 2 พ.ย.2563 ผมเชื่อว่าท่านยังสามารถขายยางแผ่นรมควันได้ในราคากิโลกรัมละ 80 บาท/กก.
อย่างไรก็ดี กยท.ยังมีเครื่องมือที่ช่วย ก็คือ การเข้าซื้อยางแผ่น เพื่อพยุงราคาในตลาดกลาง โดยกองรักษาเสถียรภาพราคายางพารา สั่งโดยคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ประกอบกับฝนตกทั่วประเทศไทยทำให้กรีดยางไม่ได้ และปัญหาโรคใบร่วงในภาคใต้เกือบ 1 ล้านไร่ ที่ทำให้ผลผลิตยางลดลงกว่า 50% ส่วนสถานการณ์ในต่างประเทศเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมในเวียดนาม ทำให้เวียดนามฉีกสัญญาขายยางหลายฉบับ เพราะไม่มียางส่งมอบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง