บีบCPรับเงื่อนไข ควบรวมโลตัส ห้ามเก็บค่าต๋งเพิ่ม

06 พ.ย. 2563 | 10:40 น.

ปิดดีลซีพีซื้อเทสโก้ โลตัส “กขค.” ไฟเขียวอนุญาตแบบมีเงื่อนไข พร้อมยื่นคำสั่งต้องเปิดรับซัพพลายเออร์ ห้ามเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่ม หวังป้องกันการผูกขาด มั่นใจพร้อมเผยต่อสาธารณชนภายใน 13 พ.ย. นี้ นักวิชาการยํ้ากินรวบทั้งระบบ กระทบหนักเกษตรกร-ผู้ผลิต

การเข้าควบรวมกิจการของเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี (CP)ที่ซื้อหุ้นบริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ในบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า “เทสโก้ โลตัส” ในประเทศไทย โดยต้องขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) 

 

สำหรับผลการพิจารณาการควบรวมกิจการที่กขค. อนุญาตให้ควบรวมกิจการได้แบบมีเงื่อนไขในครั้งนี้เกิดขึ้นตามคำขอของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยบริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งถือหุ้น โดยซีพี ออลล์ 40%, เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง 40% และซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง (โดยเจริญโภคภัณฑ์อาหารหรือ CPF) 20% ที่เข้าซื้อกิจการบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco Store (Malaysia) Sdn.Bhd. มูลค่า 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 338,445 ล้านบาท

บีบCPรับเงื่อนไข ควบรวมโลตัส ห้ามเก็บค่าต๋งเพิ่ม

อย่างไรก็ดี ผลการพิจารณาเกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ทั้ง 7 คนได้ร่วมประชุมและพิจารณาจากผลการศึกษาโดยคณะอนุกรรมการด้านการพิจารณาโครงสร้างตลาด และมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยเสียงข้างมากให้ความเห็นชอบว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้ไม่ผิดี่กฏหมาย แต่อนุญาตให้ซีพีควบรวมเทสโก้ โลตัสได้แบบมีเงื่อนไขเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดตลาด หรือมีอำนาจเหนือตลาดสขค. กำหนดให้การดำเนินธุรกิจค้าปลีกของซีพี ไม่ว่าจะเป็นเซเว่น อีเลฟเว่น แม็คโคร และเทสโก้ โลตัส จะต้องเปิดรับสินค้าจากซัพพลายเออร์หรือคู่ค้า โดยไม่มีเงื่อนไขการเก็บค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า ค่าธรรมเนียมการวางสินค้าค่าจีพี เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิกฤติไฮเปอร์มาร์เก็ต ความท้าทายของซีพี

"CP" ซื้อ "โลตัส' ซุ่มยื่นเอกสารรอบ 2 ลุ้น กขค.เคาะใน 90 วัน

ไล่บี้‘ซีพี’ซื้อโลตัส SMEs-โชห่วยจ่อตาย

ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลการพิจารณาของสขค. ที่อนุญาตแบบมีเงื่อนไข ให้ซีพีควบรวมกิจการกับเทสโก้ โลตัสในครั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการตีความของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใดมาพิจารณาคำว่า “ผู้มีอำนาจเหนือตลาด” เพราะหากพิจารณาตามฟอร์แมทในบางพื้นที่จะพบว่า มีทั้งเซเว่น อีเลฟเว่นและโลตัส เอ็กซ์เพรสตั้งอยู่ใกล้กันมาก เมื่อรวมกันก็เหมือนเป็นเจ้าของเดียวกัน จะเรียกว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่

 

“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมจับตามองเหมือนสปอตไลต์ที่ส่งมาทำให้กขค.กลายเป็นจำเลยของสังคม และเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา หรือแปดเปื้อน ผลคำตัดสินที่ออกมาว่าอนุญาตแบบมีเงื่อนไข จึงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจเท่าไรนัก แต่สิ่งที่กขค.ต้องตอบสังคมคือ 1. คุณทำหน้าที่สมบูรณ์แล้วหรือไม่ 2.คุณเลือกปฏิบัติหรือไม่”

บีบCPรับเงื่อนไข ควบรวมโลตัส ห้ามเก็บค่าต๋งเพิ่ม

แน่นอนว่า การควบรวมครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งระบบ เพราะซีพีเป็นธุรกิจครบวงจรทั้งต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้า สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นคือ “การผูกขาด” ทำให้ผู้ผลิตบางรายที่ผลิตสินค้าประเภทเดียวกับซีพี (ซึ่งก็มีหลากหลายประเภท) ไม่สามารถเข้ามาวางจำหน่ายในช่องทางของซีพีได้ทั้งเซเว่น อีเลฟเว่น, แม็คโครและเทสโก้ โลตัส โดยผู้ผลิตกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบคือ “เกษตรกร” เพราะซีพีมีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร ผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรที่หลากหลายมาก

 

กลุ่มต่อมาได้แก่ ซัพพลายเออร์ ซึ่งจะได้รับผลกระทบใน 2 ด้านคือ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและอำนาจต่อรองที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเก็บค่าแรกเข้า ค่าจีพี ค่าการตลาด ที่เดิมคิดเฉลี่ย 30% โอกาสที่จะปรับเพิ่มเป็น 50-60% ก็เป็นไปได้ นอกจากนี้ทุกช่องแชนนอล ล้วนมีการพัฒนาแบรนด์สินค้าของตนเอง (เฮ้าส์แบรนด์) เช่น เซเว่น อีเลฟเว่นมีเลอแปง, เจดดราก้อน ฯลฯ แม็คโคร มีแอร์โร เป็นต้น ซัพพลายเออร์จะถูกลดทอนรายการสินค้าที่นำมาวางขายให้น้อยลง และนำสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ในเครือมาวางขายมากขึ้น รวมถึงในอนาคตจะมีการนำสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ไปวางขายในเครือ เช่น นำเลอแปง, เจดดราก้อน ไปวางขายในเทสโก้ โลตัส เป็นต้น

 

ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบเพราะสินค้าที่วางขายจะมีตัวเลือกน้อยลง (ถูกแทนที่ด้วยสินค้าเฮ้าส์แบรนด์) แต่ในอีกมุมจะพบว่า ราคาสินค้าจะถูกลง จากการรวมศูนย์ซึ่งซีพีมีทุกอย่าง

 

“การดำเนินธุรกิจตามฟอร์แมทที่เป็นอยู่จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่หากมีการข้ามฟอร์แมท เช่นที่เซเว่น อีเลฟเว่น ทำอยู่ คือจากร้านสะดวกซื้อเพิ่มการขายผักสด ผลไม้ ฯลฯ รวมถึงสินค้ายกแพ็ก เข้ามาแม้ในมุมหนึ่งมองว่าเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ แต่ในอีกมุมคือ การเบียดเบียนค้าปลีกฟอร์แมทอื่น ซึ่งก็ต้องการที่ยืนเช่นกัน”

 

หน้า 01 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,625 วันที่ 8 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563