11 พ.ย. นัดยื่นแก้ “กฎหมายประมง”

07 พ.ย. 2563 | 10:44 น.

ครบแล้วล่ารายชื่อแก้ “กฎหมายประมง” นัดยื่น 11 พ.ย. “มงคล” เผยต้องเร่งแก้ ชี้กฎหมายซ่อนยาพิษ ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญ เห็นด้วย 2 ข้อเรียกร้องตามผู้ชุมุนม  ยกเว้นปฏิรูปสถาบัน

นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมสมุทรสงคราม และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  เผยความคืบหน้ารวบรายมือชื่อผู้เข้าร่วมเสนอร่างพระราชบัญญัติการประมง ได้ 12,040 รายชื่อ พร้อมแล้ว ก็ขอเชิญสมาชิกชาวประมงทุกจังหวัด เข้าร่วมยื่นรายชื่อเสนอร่างกฎหมายการประมงพ.ศ....ต่อประธานรัฐสภา ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ที่ อาคารรัฐสภา ซึ่งหลังจากยื่นแล้วก็เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบรายชื่อคาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน แล้วจะเข้าสู่ประชุมสภา เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการฯ เพื่อศึกษากฎหมายดังกล่าวนี้ ว่ากันไปตามกระบวนการของการแก้กฎหมาย

มงคล สุขเจริญคณา

“คาดหวังว่าเมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง มาจากเสียงของพี่น้องประชาชน คาดว่ากระบวนการแก้ไขกฎหมายผ่านกระบวนการสภาผู้แทนฯ เป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งตรงนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เช่นเดียวกับรัฐบาลก็ไม่น่าที่จะเกี่ยวข้องอะไร อีกด้านก็กลัวว่าจะยุบสภาก่อน ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญก็ควรจะแก้ไปพร้อมกับกฎหมายประมง ก็มองว่าไปในเวลาไล่เลี่ยกันก็น่าที่จะเสร็จในระเวลาที่ใกล้กัน แต่ถ้าพิจารณาไปแล้วกฎหมายไม่เสร็จ ยุบสภาก่อนกฎหมายจะตกไป แต่สามารถยกขึ้นมาใหม่ได้หากมีรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศต่อ มองว่าไม่เสียเปล่า”

 

นายมงคล กล่าวว่า ในการแก้กฎหมาย เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีการออกกฎหมายโดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนซึ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวประมงจำนวนมาก ซึ่งเกี่ยวเนื่องกันในกรณีที่เรามีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการที่ไม่รับฟังเสียงจากพี่น้องประชาชนทำให้เกิดปัญหามากมายตามมาเป็นจุดที่ทำไมประชาชนถึงได้ออกมาเรียกร้องขับไล่รัฐบาลคงจะเป็นประเด็นนี้ด้วย

 

“ในส่วนของประมงเองไม่ได้ออกไป เพราะมีข้อกังวลในเรื่องข้อที่ 3 ปฏิรูปสถาบัน ซึ่งเราไม่เห็นด้วยในกรณีนี้ เราคิดว่าความจริง พี่น้องประชาชนเรียกร้องข้อ1 และข้อ2  เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ข้อ 3 ไม่ควรจะไปแตะ เพราะสถาบันไม่เคยมาทำร้ายประชาชน ไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับการเมือง สถาบันอยู่เหนือการเมือง อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบาททางการเมืองและอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ เป็นที่เคารพสักการะจะไปเกี่ยวข้องกับสถาบัน ก็ต่างจิตต่างใจ แต่ในส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่ไปเกี่ยวข้อง ต้องไปปฏิรูป ผมถามหน่อยคนที่จะไปปฏิรูป เคยเสนอที่จะปฏิรูปตัวเองหรือไม่ เคยมองตัวเองไหมว่าดีพอหรือยังจะไปเสนอสถาบันให้ปฏิรูป การที่จะมองว่าใครดี ไม่ดี ให้มองตัวเองก่อนไหม ตามหลักพระพุทธศาสนา”

 

รายชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติการประมง 12,040 รายชื่อ

 

นายมงคล กล่าวถึงการปรับปรุงกฎหมายประมง สมาคมประมงฯ เสนอไป ซึ่งรัฐบาลอาจจะไม่เห็นด้วยก็ไม่ว่ากัน ก็มาถกกันก็ผ่านกระบวนการสภาผู้แทนฯ เช่นเดียวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ต้องไปผ่านสภาผู้แทนราษฎร ต้องไปต่อสู้ อะไรไม่ถูกต้อง เช่น สว. 250 คน ไม่ควรมีเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี ชัดเจน ประเด็นชัด ยอมรับได้ รัฐบาลคงจะต้องรับและนำไปแก้ไขปรับปรุงรวมทั้งการคำนวณคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่มีปัญหา ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประมง  เหมือนกันเลย เพราะ "กฎหมายรัฐธรมนูญ" มียาพิษอยู่เยอะ ใครทำไม่ถูกต้อง จะเข้าสู่กระบวนการความผิด "กฎหมายประมง" ใครทำไม่ถูกต้อง ก็จะมีความผิดปรับ 5 แสน-1 ล้าน ซึ่งทั้ง 2 ฉบับเป็นกฎหมายที่ใช้คนเดียวเขียน วางกฎหมายควบคุมนักการเมืองนักการเมืองไม่ดี ก็ลากนักการเมืองดีไปด้วย เช่นเดียวกับ กฎหมายประมงควบคุมและปราบปรามชาวประมงไม่ดี แต่สุดท้ายลากชาวประมงดีไปด้วย ดังนั้นผมยืนยันว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาเห็นด้วยที่ต้องแก้ไข ส่วนข้อ1 นายกรัฐมนตรีจะลาออก เมื่อลาออกแล้วอย่างไร ใครจะแก้รัฐธรรมนูญ เพราะถ้าตั้ง สสร. นายรัฐมนตรีก็ชี้นำไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้ายุบสภา ก็ไปใช้กฎหมายเดิม จะเอาหรือไม่ ต้องประนีประนอมอย่าไปเอาให้ได้ทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ ที่สำคัญนายกรัฐมนตรีลาออก สมาชิกวุฒิสภา (สว.)ก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงมองว่าการแก้รัฐธรรมนูญ มีน้ำหนักเหตุผลที่จะต้องแก้ก่อนเป็นลำดับแรก

 

“ยกเว้นหมวดสถาบัน ที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องรู้สึกเลยเถิดไป เพราะความจริงอยู่เรื่องการเมือง ก็คือเรื่องปากท้องพี่น้องประชาชน ต้องการปฏิรูปการศึกษา สิ่งต่างที่เรียกร้องอยู่ในระบบการเมืองไม่ใช่สถาบัน คนละเรื่องกันเลย ซึ่ง สถาบันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แล้ว อำนาจสูงสุดก็คืออำนาจของประชาชน จะไปบิดว่าต้องเอาอำนาจคืนประชาชน พยายามโยงให้มาเกี่ยว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง ท่านไปกำหนดนโยบายอะไรให้ประชาชนเดือดร้อน ไม่มีเลย มีแต่โครงการพระราชดำริฯ ช่วยเหลือประชาชน ถ้าไม่มีเรื่องนี้ ทุกอย่างจบไปนานแล้ว"

 

นายมงคล กล่าวว่า  ในอดีตไม่ควรเอาทหารมาแก้ปัญหาประมง ให้เป็นแค่ฝ่ายสนับสนุน หรือใช้คนที่มีความฉลาดเก่งกาจ ต้องใช้ทหารสาย "บุ๋น" มาแก้ ไม่ใช่นำทหารสาย “บู๊” มาแก้ ก็ฆ่าอย่างเดียว พวกประมงผิดเล็กผิดน้อย “ตายเรียบ” เลย ซึ่งความจริงไม่ควรตาย ดังนั้นในวันที่ 11  พ.ย. นี้ ก็ขอเชิญพี่น้องชาวประมงที่สะดวกมามายื่นกฎหมายประมง ฉบับประชาชน เป็นทิศทางที่จะแก้ปัญหาภาพรวมของชาวประมงทั้งประเทศให้สามารถอยู่รอดไปได้ ซึ่งความหวังสูงสุดก็คือแก้กฎหมายประมง นี่คือสิ่งที่เราต้องการ สิ่งที่เราเรียกร้องมา 5-6 ปี ดังนั้นชาวประมงที่คิดว่าน่าจะเป็นความรู้สึกร่วมกัน ก็เป็นการแสดงพลังในการที่จะไปแสดงให้รัฐบาล และสภาเห็นว่าความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงมีอยู่จริง ดังนั้นก็ขอให้ชาวประมงมายื่นหนังสือในวันดังกล่าวด้วย