บิ๊กธุรกิจโรงแรมไทยจี้รัฐเปิดประเทศรับต่างชาติ ตั้งกองทุนแสนล้านอุ้มธุรกิจ

17 พ.ย. 2563 | 21:30 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2563 | 04:04 น.

บิ๊กธุรกิจโรงแรมไทย ดุสิตธานี-ไมเนอร์-ดิเอราวัณ ผนึกทีเอชเอ ออกโรงจี้รัฐเปิดประเทศรับต่างชาติ พยุงการจ้างงาน ทั้งร้องรัฐเยียวยาเร่งด่วน วอนขอเร่งตั้งกองทุนฟื้นฟูท่องเที่ยว1แสนล้านบาท พร้อมเร่งสื่อสารให้คนไทยยอมรับ หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อาจทำให้โรงแรมอยู่ไม่ไหว

       ผู้ประกอบการโรงแรมรายใหญ่กว่า 20 ราย ได้หารือร่วมกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อร้องขอรัฐบาลเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมชงข้อเสนอขอให้รัฐออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเร่งด่วน

         นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลเร่งเปิดประเทศรับต่างชาติ หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อาจทำให้โรงแรมอยู่ไม่ไหว ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก ขณะที่ธุรกิจธนาคารและการเงินมีสภาพคล่องล้น เนื่องจากคนหันไปฝากเงินมากขึ้น และธนาคารเลี่ยงปล่อยกู้แก่ธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อหนีความเสี่ยง จึงอยากให้รัฐออกนโยบายการคลังพยุงผู้ประกอบการท่องเที่ยว ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาช่วยค้ำประกันเงินกู้แก่เอสเอ็มอี โดยเชื่อว่าเอสเอ็มอีหลายรายจะยอมจ่ายค่าประกันที่สูงขึ้นเพื่อเข้าถึงเงินทุน เพื่อรักษาการจ้างงาน

ศุภจี สุธรรมพันธุ์

        ด้านการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ ขอเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยผ่อนคลายระเบียบ เนื่องจากหุ้นกู้ของบริษัทหลายแห่งใกล้ถึงกำหนดชำระ แม้ ธปท.รับปากแล้วว่าจะช่วย แต่เกณฑ์ยัง “ตึงตัว” ค่อนข้างมาก

         ขณะเดียวกันยังสนับสนุนให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯผลักดันนโยบายจัดตั้ง “กองทุนฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว” โดยอาจจะใช้แนวคิดให้กองทุนนี้เป็นเหมือน “คลังสินค้า” (Warehouse) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ไม่สามารถพยุงกิจการเอาไว้ได้ในช่วงวิกฤตินี้ ให้สามารถนำโรงแรมมาเข้ากองทุนฯเพื่อเอาเงินมาบริหารจัดการ โดยมีเงื่อนไขว่าภายใน 5-7 ปีข้างหน้าค่อยมาซื้อโรงแรมคืน

         “เมื่อในอนาคตมีการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลาย อยากให้รัฐเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยการเตรียมความพร้อมระบบตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ (E-Visa) ให้เชื่อมต่อกับการอนุมัติใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry : COE) แก่ชาวต่างชาติให้สามารถเดินทางมาได้ทันที พร้อมมีการติดตามตัวเมื่อเดินทางถึงไทย คาดว่าเรื่องนี้น่าจะเกิดขึ้นแน่นอนราวกลางปี 2564 สำหรับนักท่องเที่ยวจากบางประเทศ

              นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการของกลุ่มไมเนอร์ฯในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ขาดทุนทั่วโลกกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นขาดทุนเฉพาะในไทยกว่า 2,000 ล้านบาท โดยไมเนอร์ฯพยายามช่วยเหลือตัวเองมาตลอด ทั้งการเพิ่มทุนและออกหุ้นกู้เองเพื่อเพิ่มสภาพคล่องรอดพ้นปีนี้ไปได้ แต่ถ้าจบปีนี้แล้วยังไม่มีการเปิดประเทศอย่างมีนัยสำคัญ นับเป็นเรื่องยากที่ไมเนอร์ฯจะสามารถดำเนินการต่อได้ตามปกติ โดยอาจจะต้องหาวิธีเพิ่มสภาพคล่องอีก

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์

         ทั้งอยากให้รัฐเร่งเปิดประเทศ ทั้งการทำทราเวลบับเบิล รวมถึงการลดวันกักตัว และการปรับลดความเข้มงวดในการกักตัว 14 วัน และช่วยออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเพิ่มเติมให้สามารถรักษาการจ้างงานไว้ได้

        นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทและโรงแรมในเครือสุโกศล และนายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า รัฐน่าจะมีมาตรการ “เจาะจง” ช่วยธุรกิจโรงแรมได้ เนื่องจากโรงแรมเป็นกลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าที่สุดจากวิกฤติโควิด-19 เช่น การช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานโรงแรม 50% ในลักษณะเดียวกับมาตรการที่รัฐบาลช่วยจ่ายค่าแรงแก่เด็กจบใหม่ โดยสมาคมฯอยู่ระหว่างร่างข้อเสนอดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือพนักงานโรงแรมที่อยู่ในระบบประกันสังคม

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี

         ขณะเดียวกันต้องการให้รัฐขยายเวลาลดอัตราการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมาตรา 33 เหลือ 2% ที่กำลังจะสิ้นสุดในสิ้นปี 2563 ออกไปอีกระยะหนึ่ง และคงการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะต้องจ่ายในปี 2564 ไว้ที่ 10% ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนลงได้บ้าง และที่สำคัญ คือต้องการทราบความชัดเจนของการปรับลดเวลาการกักตัวชาวต่างชาติจาก 14 วัน ว่าจะทำได้หรือไม่”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ท่องเที่ยวไทย หากยังฟื้น เป็นรูปตัว K ปีหน้าธุรกิจ 50% ปิดตาย

ชงตั้งกองทุนแสนล.ดึงเงินร่วมลงทุนฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวโคม่า

WHO ชมเชยไทยต้นแบบรับมือโควิด-19 ชวนให้ประเทศต่างๆ ทำตาม

พิษโควิด"ไมเนอร์"จ่อปลดพนักงานโรงแรมเพิ่ม ระลอก2

ท้วร์อินบาวด์ร้องรัฐเปิด ทราเวล บับเบิ้ล 22 มณฑลของจีน ก่อน 2 ล้านคนตกงาน

          นายภาคภูมิ ประภาษวุฒิ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารธุรกิจโรงแรม บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดก่อนประเทศอื่นๆ แต่เนื่องจากภาคท่องเที่ยวไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง ปี 2562 มีจำนวนมากเกือบ 40 ล้านคน ทำให้ดีมานด์ของตลาดในประเทศไม่เพียงพอสำหรับซัพพลายห้องพัก อัตราเข้าพัก (Occupancy) เฉลี่ยทั่วประเทศชะงักประมาณ 20% มากว่า 5 เดือนแล้ว และเมื่อโฟกัสเฉพาะต่างจังหวัดมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยแค่ 5-10% เท่านั้น ยกเว้นบางโรงแรมที่ได้รับความนิยมจากคนไทยหลังคลายล็อคดาวน์ซึ่งมีอัตราเข้าพักเกิน 50-60% แต่ก็ครองสัดส่วนเพียง 5% ของจำนวนโรงแรมทั้งหมดในไทย

           สถานการณ์ของโรงแรมไทยต่างจากในประเทศจีนที่ได้ตลาดในประเทศหล่อเลี้ยง มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยกว่า 50-60% ขณะที่ประเทศในกลุ่มยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลีมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยฟื้นตัวที่ 30-40% แล้ว

         ในมุมผู้ประกอบการมองว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะไม่มีทางที่โรงแรมไทยจะ Survive หรือเอาตัวรอดได้เลยจากอัตราเข้าพักเฉลี่ยราว 20% ถ้าไม่เปิดประเทศก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้อยู่ต่อไปได้ เพื่อรักษาการจ้างงาน โดยปัจจุบันยัง “ขาดความชัดเจน” ในการกำหนดมาตรการต่างๆ และการเปิดประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถวางแผนได้ว่าจะเดินอย่างไรต่อ จะเอาคนออก หรือเอาคนเข้า จะลงทุนต่อหรือหยุดลงทุน

          “โควิด-19 ไม่มีทางหายไปจากโลกนี้ อาจถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องเรียนรู้ เลิกหวาดกลัว และมองว่าโควิด-19 เป็นโรคหนึ่งที่สามารถตรวจพบและรักษาได้”

            นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ รองกรรมการผู้จัดการ โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนไทยเข้าใจและยอมรับว่าการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะต้องปลอดโควิดตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นในอีก 10 เดือนข้างหน้าประเทศไทยก็จะยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา

ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ

            “อย่างประเทศสิงคโปร์จะเริ่มทำทราเวลบับเบิลกับฮ่องกงวันที่ 1 ธ.ค.นี้ เปิดให้คนเดินทางระหว่างกันโดยไม่กักตัวทั้งขาไปและขากลับ โดยอยากเห็นภาพนี้กับประเทศไทย จะร่วมกับประเทศความเสี่ยงโควิดต่ำใดก็ได้ เพราะผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนมามากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และไม่สามารถถมเงินได้อีกต่อไป”

พิพัฒน์ รัชกิจประการ

              นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ได้รับทราบข้อเสนอทั้งหมดไปพิจารณา เช่น เรื่องการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการใน ศบศ.ให้ไปผลักดันเรื่องนี้ อาจต้องใช้วงเงิน 50,000-100,000 ล้านบาทมาช่วยเหลือภาคเอกชนท่องเที่ยว โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก ส่วนข้อเสนออื่นๆ จะนำไปหารือเพิ่มเติมกับนายกฯหรือ ศบศ.ต่อไป โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเรื่อง E-Visa ล่วงหน้าไว้เลยเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวได้อย่างทันทีที่วัคซีนสามารถใช้การได้จริงอย่างแพร่หลาย