ภาพรวมผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกในไตรมาส 3 แม้จะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ที่ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจต้องล็อกดาวน์ รวมถึงศูนย์การค้า การจำกัดเวลาเปิด-ปิดของร้านค้าปลีก มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม จำกัดจำนวนลูกค้าเข้าใช้บริการ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบทั้งสิ้น
โดยพบว่าจากมาตรการล็อกดาวน์ศูนย์การค้าทำให้ศูนย์การค้าในกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา ทั้ง 33 ศูนย์ ต้องปิดให้บริการชั่วคราว ก่อนที่จะคลายล็อกดาวน์เริ่มกลับมาเปิดให้บริการแต่ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปใช้บริการออนไลน์และความไม่มั่นใจต่อการควบคุมโรค ทำให้จำนวนผู้มาใช้บริการยังลดลง ศูนย์การค้าเองต้องช่วยบรรเทาเยียวยาร้านค้าผู้เช่า ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวจากรายได้ค่าเช่าและบริการ รวมถึงจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้เพิ่มมากขึ้น แม้จะยังต่ำกว่าช่วงเวลาปกติ แต่ก็ทำให้ผลประกอบการในไตรมาส 3 เริ่มขยับดีขึ้น แต่รายได้โดยรวมยังลดลง 19.3%
เช่นเดียวกับกลุ่มเอ็มบี เค ที่ได้รับผลกระทบจากกมาตรการล็อกดาวน์ ที่ต้องปิดศูนย์การค้านานกว่า 40 วัน การปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งจีนและยุโรปไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักหายไปกว่า 70% ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อร้านค้าผู้เช่า ซึ่งศูนย์การค้าเร่งเยียวยาด้วยการลดค่าเช่าให้จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้รายได้รวมลดลง รวมถึงผลกำไรด้วย
ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัล รีเทล ก็เช่นกัน ที่พบว่าหลังจากที่รัฐบาลคลายล็อกดาวน์ และผ่อนปรนให้ร้านค้ากลับมาเปิดให้บริการได้ แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจซบเซา หลายธุรกิจเลิกจ้างพนักงาน ทำให้มีผู้ว่างงานเพิ่มจำนวนมาก การใช้จ่ายต่างๆ จึงลดลง ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจทั้งสินค้าแฟชั่น สินค้าลักชัวรี่ ซึ่งเซ็นทรัล รีเทลได้รับผลกระทบทางธุรกิจทั้งในประเทศไทย เวียดนาม รวมถึงอิตาลี ทำให้ผลประกอบการโดยรวมขาดทุน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดอาณาจักรค้าปลีก 2 เจ้าสัว “ธนินท์-เจริญ”
ค้าปลีกเดือด “ธนินท์-เจริญ” เปิดศึก สาดสงครามราคา-โชห่วยกระอัก
อย่างไรก็ดีแม้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในเซ็กเม้นท์ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าส่งจะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ปิดให้บริการ แต่ก็ถูกจำกัดระยะเวลาเปิด-ปิด รวมถึงมาตรการอื่นๆ เช่นเว้นระยะห่างทางสังคม, การตรวจวัดอุณหภูมิฯลฯ ทำให้จำนวนผู้มาใช้บริการลดลงต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาส 3 ส่งผลให้รายได้โดยรวมของซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” มีรายได้ลดลง 3.2% และมีกำไรลดลง 22.5%
มีเพียง “สยามแม็คโคร” ผู้บริหารร้านค้าส่ง “แม็คโคร” ที่พบว่ามีการเติบโตทั้งรายได้และกำไร หลังจากที่เริ่มกลับมาเปิดสาขาใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านทางออฟไลน์สู่ออนไลน์ (O2O) และการชำระค่าสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) เป็นต้น แม้กลุ่มธุรกิจฟูด เซอร์วิส ซึ่งให้บริการกลุ่มสายการบิน โรงแรม และร้านอาหารเป็นหลัก จะได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักการให้บริการ
ทั้งนี้ในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจค้าปลีก ทุกบริษัทเชื่อมั่นว่า กำลังซื้อที่เริ่มฟื้นตัว บรรยากาศการจับจ่ายในช่วงเพรจทีฟ รวมถึงการจัดกิจกรรมโปรโมชัน แคมเปญ อีเวนต์ต่างๆ จะช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจค้าปลีกกลับมาคึกคักอีกครั้ง
“นับจากเดือนสิงหาคม บรรยากาศ ภาพรวมเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น จำนวนลูกค้าเริ่มกลับเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทำให้การใช้จ่ายในไตรมาส 3 ดีขึ้น และจะต่อเนื่องไปยังไตรมาส 4 ซึ่งผู้ประกอบการเองก็ช่วยอัดงบจัดกิจกรรมการตลาด เพื่อสร้างโปรโมชัน อีเวนต์ ปลุกมูดให้เกิดขึ้น”
นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ , เซ็นทรัลพลาซา, เซ็นทรัลเฟสติวัล, เซ็นทรัล ภูเก็ต และเซ็นทรัล วิลเลจ กล่าวแสดงความเห็นว่า แคมเปญต่างๆ ที่ผู้ประกอบการช่วยกันจัดขึ้นไม่ว่าจะเป็น 9.9 , 10.10 หรือล่าสุด 11.11 ล้วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่าย ให้เกิดการบริโภคในประเทศมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการเองจำเป็นจะต้องปรับให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งวันนี้การมาช็อปปิ้งในศูนย์การค้า รับประทานอาหารในร้านอาหารก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น แต่การจะสร้างบรรยากาศ การสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ จะช่วยดึงลูกค้าให้เข้ามาเพิ่มขึ้น
“เชื่อว่าในสิ้นปีนี้ สถาน การณ์ต่างๆ จะกลับสู่ภาวะปกติ จำนวนลูกค้าจะกลับมาใช้บริการเกือบ 100% จากวันนี้หากเป็นศูนย์การค้าในต่างจังหวัดมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการแล้ว 80% ส่วนในกรุงเทพฯ ยังมีสัดส่วนราว 7% ส่วนเมืองท่องเที่ยวราว 50-60% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ”
อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายเชื่อว่า ผู้ประกอบการจะกลับมาพิจารณาเรื่องการเดินหน้าลงทุนอีกครั้ง เช่นเดียวกับเซ็นทรัลพัฒนาที่ยังคงแผนลงทุนต่อเนื่อง โดยในปีหน้ามีแผนจะเปิดให้บริการอีก 2 แห่งได้แก่ เซ็นทรัล อยุธยา และเซ็นทรัล ศรีราชา รวมทั้งเดินหน้าก่อสร้างโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) บนพื้นที่ 23 ไร่ มุมถนนสีลม ซึ่งจะมีศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค เป็นหนึ่งในแม็กเน็ตสำคัญ
ขณะที่บมจ. ซีพี ออลล์ เตรียมขยายสาขาเพิ่มขึ้นให้ครบ 700 สาขาตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และเดินหน้าผลักดันให้ครบ 1.3 หมื่นสาขาในปี 2564 จากปัจจุบันที่มีสาขาราว 12,225 สาขา (ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563) โดยจะใช้เงินลงทุนราว 1.15-1.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800-4,000 ล้านบาท การปรับปรุงร้านสาขาเดิม 2,400-2,500 ล้านบาท การก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้า โครงการใหม่และบริษัทย่อย 4,000-4,100 ล้านบาท และอื่นๆ ราว 1,400 ล้านบาท รวมทั้งเพิ่มบริการต่างๆ อาทิ ดีลิเวอรี เป็นต้น
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,628 วันที่ 19 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563