บิ๊กทัวร์อินบาวด์ ร้องรัฐเยียวยา หวั่นธุรกิจหาย 40%

21 พ.ย. 2563 | 06:33 น.

บิ๊กบริษัทนำเที่ยวอินบาวด์ ทนอยู่ในภาวะจำศีลไม่ไหว หาในช่วง 1-2 ปีนี้ ไทยยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เผยที่ผ่านมาดาวน์ไซซ์องค์กร มีแต่รายจ่ายไม่มีรายได้เข้ามาร่วม 10 เดือนแล้ว ร้องรัฐออกมาตรการระยะที่ 2 เร่งเยียวยาต่อเนื่อง ลดผลกระทบธุรกิจทัวร์ของคนไทยจะหายจากตลาดไปไม่น้อยกว่า35-40%

 

 

 

    นับเป็นเวลาร่วม10 เดือนแล้วที่ธุรกิจนำเที่ยวอินบาวด์ (นำนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทย)เกิดการชะงักในการดำเนินธุรกิจ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นศูนย์ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

   แม้ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ การออกวีซ่าพิเศษ (STV) วีซ่าท่องเที่ยว วีซ่าลองสเตย์ แต่ก็มีการเดินเข้ามาในหลัก 1.2 พันคนเท่านั้น

    ที่สำคัญคือผู้ประกอบการอินบาวด์ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการดังกล่าวนี้ ซึ่งผู้ประกอบการก็เข้าใจดี เพราะเป็นการทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่อยากให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือบริษัทนำเที่ยวอินบาวด์ เพื่อให้ประคองตัวอยู่ได้ รอให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้

    นางมิ่งขวัญ เมธเมาลี ประธานสมาคมท่องเที่ยวอาเซียน หรือ อาเซียนต้า และกรรมการผู้จัดการบริษัทอิมเมจ เอเชีย จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากการหารือร่วมกันระหว่างบริษัทนำเที่ยวอินบาวด์รายใหญ่ครอบคลุมทุกตลาด ต่างเห็นพ้องร่วมกันว่าธุรกิจอินบาวด์ ต้องอยู่ในภาวะจำศีลอย่างแท้จริง หากในช่วง 1-2ปีนี้ ยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง

บิ๊กทัวร์อินบาวด์  ร้องรัฐเยียวยา หวั่นธุรกิจหาย 40%

 เนื่องจากนับเป็นเวลากว่า 10 เดือนแล้วที่ผู้ประกอบการอินบาวด์ไม่มีรายได้เข้าเลย แม้รัฐบาลจะทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็มีเข้ามาในหลัก 1.2 พันคนเท่านั้น

จากปกติที่จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 3 ล้านคนต่อเดือน ซึ่งในจำนวนนี้เดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยวที่เป็นสมาชิกของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) จากเดิมอยู่ที่ 5 หมื่นคนต่อเดือน เหลือเพียง 300 คนต่อเดือนผ่านวีซ่า STV

 “ธุรกิจนี้จำเป็นต้องรอนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเดียว แตกต่างจากบริษัทนำเที่ยวอื่นๆที่มีฐานลูกค้าที่สามารถกระตุ้นคนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศได้ การไม่มีรายได้เข้ามาเลย แต่บริษัทอินบาวด์ จะต้องแบกรับรายจ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในเรื่องของเงินเดือนพนักงาน เป็นเรื่องที่หนักหนามาก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ท่องเที่ยวไทย หากยังฟื้น เป็นรูปตัว K ปีหน้าธุรกิจ 50% ปิดตาย

ท้วร์อินบาวด์ร้องรัฐเปิด ทราเวล บับเบิ้ล 22 มณฑลของจีน ก่อน 2 ล้านคนตกงาน

อาเซียนต้า หนุนสร้างมาตรฐานโควิด ดัน "อาเซียน" เที่ยวกันเอง

    ปัจจุบันบริษัทอินบาวด์รายใหญ่ก็ทยอยดาวน์ไซซ์องค์กรไปแล้วเกือบจะทุกบริษัท เพราะเห็นแนวโน้มว่าการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวต่อเนื่อง

    โดยจากข้อมูลขององค์การการท่องเที่ยวโลก UNWTO ชี้ชัดว่าตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2563 ภูมิภาคต่างๆ ของโลกมีการหดตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ติดลบ 70.1% และหลายสถาบันคาดการณ์ตรงกันว่ากว่าจะฟื้นต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี”

บิ๊กทัวร์อินบาวด์  ร้องรัฐเยียวยา หวั่นธุรกิจหาย 40%

    หากภาครัฐยังไม่มีมาตราการต่อเนื่องในการช่วยเหลือผู้ประกอบการอินบาวด์ที่ชัดเจน จะส่งผลให้บริษัทอินบาวด์ต้องหายไปจากตลาดไม่น้อยกว่า 35-40% จากบริษัททัวร์อินบาวด์ที่มีจำนวนกว่า 1.2 พันบริษัท มีจำนวนพนักงานในธุรกิจหลักหมื่นคน

    การล้มหายตายจากไปของบริษัทนำเที่ยว จะไม่เป็นผลดีหากมีการเปิดประเทศแล้ว เราไม่มีเอกชนไทย ที่จะออกไปแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งอาจมีการแข่งขันสูงอย่างแน่นอน และหลังโควิด-19 มั่นใจว่าต่างชาติจะมาเที่ยวไทยเพิ่มมากกว่าเดิม จากมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

    ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นทางผู้ประกอบการทัวร์อินบาวด์จะมีการทำหนังสือถึงนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อยื่นข้อเสนอขอให้รัฐบาล ออกมาตรการช่วยเหลือบริษัทนำเที่ยวอินบาวด์ระยะที่ 2 เพื่อต่อลมหายใจ

บิ๊กทัวร์อินบาวด์  ร้องรัฐเยียวยา หวั่นธุรกิจหาย 40%

   เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือในระยะแรก ทั้งการคืนเงินประกันบางส่วนจากกรมท่องเที่ยว ตลอดจนพักชำระหนี้สถานบันการเงิน ไปจนถึงเงินกู้ผ่อนยาวดอกเบี้ยต่ำ ตั้งแต่ประกาศปลดล็อกดาวน์มาจนถึง ณ ปัจจุบัน ก็เป็นเวลากว่าราว 7-8 เดือนแล้ว เงินประกันที่ได้รับคืนก็คงหมดไปแล้ว การครบกำหนดในการพักชำระหนี้ และต้องเริ่มเปิดกิจการกันแล้ว

บิ๊กทัวร์อินบาวด์  ร้องรัฐเยียวยา หวั่นธุรกิจหาย 40%

    นั่นจึงเท่ากับว่า ต้องแบกรับทั้งภาระค่าใช้จ่ายปกติ ที่จะต้องเริ่มจ่ายกันแล้ว รวมถึงการเสียภาษีและค่าแรงพนักงาน

    ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าว ทำให้ตัวแทนจากบริษัทนำเที่ยวรายใหญ่หลายๆ ตลาด จึงได้นัดหารือกันถึงทางออก ที่จะทำให้ทุกคนสามารถรักษาสถานะภาพธุรกิจให้ไปต่อได้ได้ แต่จะเรียกร้องต่อภาครัฐอย่างไร จะไม่เป็นการรบกวนเงินภาษีของประเทศและความรู้สึกของธุรกิจอื่นๆ ตลอดจนพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่

บิ๊กทัวร์อินบาวด์  ร้องรัฐเยียวยา หวั่นธุรกิจหาย 40%

    การหารือร่วมกันจึงพอจะหาข้อสรุปทางออกได้ว่าอยากจะขอให้ภาครัฐช่วยเหลือบริษัทนำเที่ยว โดยการขอให้พักชำระภาษีเงินได้ชั่วคราวในปีภาษี 2563 เพราะในปีภาษี 2562 แม้บริษัทนำเที่ยวจะมีรายได้ที่ลดลงอย่างมาก แต่ด้วยรายได้ที่เข้ามาในเดือนมกราคม-มีนาคม ก็ทำให้บริษัทยังคงต้องจ่ายภาษีจากหลักแสนบาทก็มาอยู่ที่หลักหมื่นบาท

      ทั้งยังมีค่าจ้างทำบัญชีอยู่ดี ทำให้เราจึงจะขอให้ภาครัฐประกาศให้พักชำระภาษีเงินได้ชั่วคราวในปีภาษี 2563 สำหรับธุรกิจอินบาวด์ และต่ออายุรายปีโดยอนุมัติ

    รวมไปถึงการช่วยไกล่เกลี่ยเงินชดเชย ลูกจ้างในกรณีจ้างออกให้ต่ำที่สุด การขอยืดระยะเวลาการจ่ายเงินเยียวยาจากประกันสังคม ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน และขอปรับลดเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง เนื่องจากธุรกิจอินบาวด์ยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้เหมือนเดิมจากนักท่องเที่ยวยังคงมีปริมาณจำกัด เพื่อรักษาการจ้างงาน

   สำหรับข้อเรียกร้องดังกล่าวผู้ประกอบการประเมินกันว่าอาจจะช่วยให้บริษัทนำเที่ยวกว่า 85% อาจมีโอกาสฟื้นตัวหลังทั่วโลกสามารถท่องเที่ยวกันได้ตามปกติ 

หน้า 21-22  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,628 วันที่ 19 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563