แม้ธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ของไทยจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก โควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้มีโรงแรมแห่เสนอขายรวมกว่า 100 แห่ง ยอดขายอสังหาฯในภาพรวมหดตัว แต่ท่ามกลางวิกฤต ก็ยังคงเห็นการเดินหน้าขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ของกลุ่มกองทุน อสังหาฯและกองทุนส่วนบุคคลหรือ(ไพรเวท ฟันด์) จากต่างประเทศ
ปัจจุบันจากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า มีกลุ่มกองทุนและไพรเวท ฟันด์ จากต่างประเทศ 3 กลุ่มใหญ่เข้ามาลงทุนโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ในไทย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มทุนอสังหาฯรายใหญ่จากภูมิภาคเอเชีย รวมถึงสหรัฐอเมริกา โดยหลักๆจะมี 3 โลเคชั่น ที่มีการประกาศเดินหน้าเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว คือที่ กรุงเทพ,ภูเก็ต,เกาะช้าง รวมมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.58 หมื่นล้านบาท
กลุ่มที่1คือ นอร์คอล เวนเจอร์ แคปิทัล กรุ๊ป ((Norcal Venture Capital Group Limited: NVC) ซึ่งเป็นไพรเวท ฟันด์ จากฮ่องกงที่เข้ามา ลงทุนโครงการ “อควาเรียส เรสซิเดนเซส แอนด์ รีสอร์ท”ที่เกาะช้าง ภายใต้การลงทุนของอะควาเรียส อินเตอร์เนชั่นแนล ฮอสพิทอลลิตี้ ดีเวลลอปเมนท์ (AQI) ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ
นายเอ็ดเวิร์ด ค็อกหว่าฉี กรรมการผู้จัดการ บริษัท นอร์คอล เวนเจอร์ แคปิทัล กรุ๊ป (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการตัดสินใจลงทุนกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8 พันล้านบาท)ในโครงการดังกล่าวท่ามกลางโควิด-19 เรามองว่ามองว่าไม่ใช่การลงทุนที่มีความเสี่ยง เรามีประสบการณ์จากวิกฤตเอเชียก่อนหน้านี้และสถานการณ์ปัจจุบัน ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด -19 ได้รับผลกระทบไปทั่วโลกไม่ใช่ภูมิภาคเดียวหรือในประเทศ
ดังนั้นเราจึงลองใช้วิกฤติครั้งนี้ในการเปลี่ยนความเสี่ยงให้กลายเป็นโอกาส ด้วยการสนับสนุนทางการเงินที่แข็งแกร่งจากสำนักงานใหญ่และพันธมิตรของเรา การลงทุนกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในพื้นที่กว่า 145 ไร่บนเกาะช้าง จะมี 3 เฟส ได้แก่ ลักชัวรี พูลวิลล่า 23 หลัง, คอนโดมิเนียมแบบโลว์ไรส์ 99 ห้อง และโรงแรม 5 ดาว ชื่อ เดอะเจดีย์ อควาเรียส เกาะช้าง 200 ห้อง ที่จะเปิดตัวทั้ง 3 เฟสได้ในปี2565
“เรามองกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากการเปลี่ยนแปลงในทวีปยุโรปของเศรษฐกิจโลก (World Bank และ IMP) มาสู่เอเชีย เราคาดว่า ชาวเอเชียจำนวนมากขึ้นและชาวต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตและที่ทำงานมายังเอเชีย ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ในเอเชีย และจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้นในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (เช่น EEC) จะดีขึ้นทั่วประเทศ”
นอกจากนี้เรายังคงมองหาการลงทุนในไทยที่จะสอดคล้องกับแนวทางการบริการแบบองค์รวมของ AQI ที่สามารถตอบโจทย์สิ่งที่ลูกค้าต้องการ การใช้ชีวิตเชิงนิเวศที่หรูหรา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนใครในใจกลางธรรมชาติ เรามุ่งมั่นที่จะผสมผสานความสงบความเงียบสงบและความเป็นส่วนตัวเข้ากับบริการด้านไลฟ์สไตล์ที่ยอดเยี่ยม ซึ่งรวมถึงร้านอาหารระดับโลก ฟิตเนสและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ บริการรถรับส่งสุดหรู และอื่นๆด้วย นายเอ็ดเวิร์ด กล่าวทิ้งท้าย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดึงต่างชาติซื้ออสังหาฯแถม"อีลิทการ์ด"-ซื้อคอนโดเริ่ม8ล้านได้สมาร์ทวีซ่า
ไม่หวั่นโควิด ต่างชาติทุ่ม 7.8 พันล.ลงทุนอสังหาฯไทยนำร่องที่ภูเก็ต
กลุ่มที่2 คือ บริษัทเอเชีย แคปปิตอล เรียล เอสเตท และบริษัทนูน โฮม่า ได้ร่วมทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบอพาร์ตเมนต์ให้เช่าระยะยาว ภายใต้แบรนด์ โฮม่า เพื่อเข้ามาบุกเบิกตลาดที่พักอาศัยแบบเช่าระยะยาวในไทย โดยมีแผนจะลงทุนราว 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,817 ล้านบาท)ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อพัฒนาโครงการโฮม่าทั้ง 6 แห่งในไทย เพื่อเจาะกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ นักเดินทางเพื่อการพักผ่อน นักธุรกิจ ฟรีแลนซ์ ยุคดิจิทัลและชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยและทำงานในไทย รวมถึงกลุ่มที่เริ่มสร้างครอบครัวที่กำลังหาที่พักช่วงวันหยุด
โดยปัจจุบันมีการเปิดตัวการลงทุนแล้ว 2 โครงการแรกแล้วในจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ โฮม่า ภูเก็ต ทาวน์ จะเปิดให้บริการไตรมาสที่3 ปี2564 มีห้องพักจำนวน 505 ยูนิต และโฮม่า เชิงทะเล มีแผนเปิดให้บริการในปี2565 ขนาด 422 ยูนิต
นายเบลค โอลาฟสัน ผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการบริษัทเอเชีย แคปปิตอล เรียล เอสเตท กล่าวว่า จากที่เราได้ลงทุนอพาร์ตเม้นต์มากกว่า 2 หมื่นยูนิตในสหรัฐอเมริกาในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เราเห็นแนวโน้มของอสังหาริมทรัพย์แบบเช่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังเติบโตและเป็นที่ดึงดูดมากขึ้นในกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ และกลุ่มที่เริ่มสร้างครอบครัว ซึ่งนำร่องการลงทุนในไทย ที่ 2 โครงการแรกในภูเก็ต โดยอพาร์ท เม้นต์แบรนด์โฮม่า จะมีการออกแบบให้ตอบรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ จากวิกฤตโควิด-19
กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดในเอเชีย “แคปิตาแลนด์” ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสิงคโปร์ จนถึงปัจจุบันมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในไทยรวม 23 แห่ง ก็ยังผลักดันบริษัทย่อย อย่าง “แอส คอทท์” เข้ามาบุกเบิกเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ระดับสากล ซึ่งมีแบรนด์โรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ หลายแบรนด์ อาทิ แอสคอทท์,ซัมเมอร์เซ็ท,ไลฟ์ เข้ามาเปิดธุรกิจเซอร์วิสเรสซิเด้นซ์แห่งใหม่ในไทย
โดยจะมีการเปิดตัว อีก 5 โครงการในช่วง 3 ปีนี้ ได้แก่ซัมเมอร์เซ็ทเมอร์เรท พระราม9 ที่จะเปิดตัวในปีนี้ แอสคอทท์ แอมบาสซี่ สาธร บางกอก และแอสคอทท์ สุขุมวิท ทองหล่อ ในปีหน้า และซัมเมอร์เซ็ทบลูโค้สท์ พัทยาในปี65
นอกจากจากเข้ามาลงทุนปักหมุดธุรกิจในไทยแล้ว จากโควิด-19 ก็จะเห็นทิศทางของกลุ่มกองทุนอสังหาฯและไพเวท ฟันด์ จากต่างประเทศ มองโอกาสในการจับมือกับกลุ่มทุนรายใหญ่ในไทย จัดตั้งกองทุนเข้ามาซื้อโรงแรมในไทย เพื่อนำมาฟิ้นฟูกิจการและขายทำกำไรอีกด้วยทั้งที่เข้ามาแล้วอย่างเดซติเนชั่น แคปปิตอล และการจัดตั้งกองทุนหลักหมื่นล้านบาท ของบริษัทแอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ของ เจ้าสัวเจริญ ที่อยู่ระหว่างหารือร่วมกับไพรเวท ฟันด์ และสถาบันการเงินเพื่อจัดตั้งกองทุนดังกล่าว
ทั้งล่าสุดคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) (ศบศ.) เห็นชอบการกระตุ้นเศรษฐกิจดึงให้คนต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯในไทย เน้นกลุ่มสมาชิกบัตรไทยแลนด์ อีลิทการ์ด (สมาชิกที่มีมูลค่าบัตรมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไปและอายุบัตรตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป) ถ้าลงทุนมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในเวลา 1 ปี ทั้งซื้ออสังหาฯ,ลงทุนในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน, ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ สามารถยื่นขอWork permit ในไทยได้