แม้ปัจจุบัน ท่าอากาศยานเบตง ซึ่งเป็นสนามบินแห่งที่ 29 ของกรมท่าอากาศยาน หรือ ทย. จะก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร และหอบังคับการบินแล้วเสร็จ 100% แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ทันภายในเดือนธันวาคม2563 ตามแผนเดิมที่วางไว้โดยอาจต้องเลื่อนเปิดให้บริการไปเป็นช่วงต้นปี2564 แทน
เนื่องจากกรมท่าอากาศยานต้องดำเนินการสรุปและแก้ปัญหาใน 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก คือ กรมท่าอากาศยาน ต้องเข้าไปดำเนินการแก้ไข ข้อบกพร่องด้านการบริหารความปลอดภัยด้านการบิน รวม 72 ข้อ ตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.)ตรวจพบตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO)แบ่งเป็น1.ข้อบกพร่องเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน 31 ข้อ และ2.ข้อบกพร่องเกี่ยวกับมาตรฐานของมาตรการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน 41 ข้อ
ทั้งนี้ ข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญสูงสุด คือ ปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรที่จะเข้ามาประจำที่ท่าอากาศยานเบตง เบื้องต้นทย.จะเร่งแก้ปัญหาโดยเกลี่ยบุคคลากรจากท่าอากาศยานอื่นเข้ามา รวมทั้งจะต้องเปิดรับสมัครจากบุคคลภายนอก จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการอบรมให้เป็นไปตามมาตรฐานคู่มือการปฏิบัติการสนามบิน
โดย กพท.ขอให้ทย.เร่งแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จและเสนอกลับขึ้นมา ให้กพท.พิจารณาภายใน 1 เดือน จากนั้นกพท.จะใช้เวลาอีก 1 พิจารณาในการพิจารณาว่าสามารถแก้ปัญหาข้อบกพร่องได้ครบถ้วนหรือไม่ หากครบถ้วนก็จะเปิดสนามบินเบตงได้ในช่วงต้นปี64
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สนามบินเบตง เปิด ธ.ค.นี้ นกแอร์-บางกอกแอร์ สนบินแต่ยังหวั่นไม่คุ้มทุน
ประเด็นที่สอง คือ การเจรจากับสายการบินที่สนใจเข้าเปิดบิน โดย ให้สิทธิประโยชน์จูงใจ ให้เข้ามาทำการบิน ซึ่งมีสายการบินนกแอร์ และสายการบิน บางกอกแอร์เวย์ส แสดงความสนใจและอยู่ระหว่างศึกษา เส้นทางบินและหาแนวทางร่วมกับทย. เพื่อไม่ให้บินแล้วขาดทุน จนทนไม่ไหวก็ต้องหยุดบินไป โดยในขณะนี้มีนกแอร์ ทำหนังสือขอให้ทย.พิจารณาสนับสนุนการเปิดจุดบินเบตงเข้ามาแล้ว โดยมีทั้งหมด 7 ข้อพิจารณา
ทั้งนี้มีรายละเอียดดังนี้ บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ต้องพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบในการเปิดเส้นทางบินใหม่ในสภาวะวิกฤตเช่นนี้ ประกอบกับการ สนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนในพื้นที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันการพิจารณาเปิดเส้นทาง อาทิ
1. การสนับสนุนด้านความปลอดภัย ข้อมูลที่จำเป็นที่นำไปใช้ในการปฎิบัติการบิน และการฝึกอบรมนักบิน รวมถึงการรักษาความปลอดภัยในสนามบินและพื้นที่โดยรอบ
2. การสนับสนุนด้านการขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานรัฐและเอกชนด้านการค้าและการท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการต่างๆ ในพื้นที่ จ.ยะลา และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระยะเริ่มต้นของการเปิดเส้นทางการบิน
3. การสนับสนุนด้านการรับประกันผู้โดยสาร บัตรโดยสารและที่นั่งในการทำ Block Seats (Hard Block) ในระยะแรกไม่น้อยกว่า 75% คิดเป็น 65 ที่นั่ง เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่เริ่มปฎิบัติการบิน และในระยะถัดไปใน 60% คิดเป็น 52 ที่นั่ง
4. การสนับสนุนด้านการยกเว้นค่าธรรมเนียมจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นระยะเวลา 3 ปี ได้แก่ ยกเว้นค่าภาษีสนามบิน (Airport Tax), ยกเว้นค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Fee), ยกเว้นค่าบริการที่เก็บของอากาศยานสำหรับการจอด (Parking Fee)
ยกเว้นค่าบริการควบคุมจราจรทางอากาศ (Air Navigation fee/Terminal Charge/En Route Charge), ยกเว้นค่าเช่าสำนักงาน, เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วโดยสาร, ค่าภาษีป้ายในการทำตลาด และโฆษณาประชาสัมพันธ์ภายในสนามบิน และพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวในเส้นทางอื่นที่บริษัททำการบิน
5. ขอสนับสนุนส่วนลดค่าบริการภาคพื้นดิน (Ground Handing Charge) จากผู้ประกอบการในพื้นที่
6.ขอสนับสนุนบริการเติมน้ำมันเครื่องบินที่สนามบินเบตง
7. ขอสนับสนุนส่วนลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ หากภาครัฐและเอกชนสามารถตอบรับและให้การสนับสนุนตามข้อมูลข้างต้น จะมีส่วนช่วยในการผลักดันและพิจารณาเปิดเส้นทางบินไปยังสนามบินเบตงของบริษัท เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนในการปฏิบัติการบินและประคับประคองการดำเนินธุรกิจของบริษัทไปได้ต่อเนื่อง
สำหรับท่าอากาศยานเบตง ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ ต.ยะรม อ. เบตง จ. ยะลา ห่างจากตัวเมืองเบตงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 15กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดยะลาประมาณ 140 กิโลเมตร
มีอาคารที่พักผู้โดยสารขนาด 7,000 ตารางเมตร ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300 คนต่อชั่วโมง หรือ 0.864 ล้านคน/ ปีอาคารจอดรถยนต์รองรับได้สูงสุด 140 คัน และทางวิ่ง (Runway) ขนาด 30x1,800 เมตร ลานจอดอากาศยานมีพื้นประมาณ 18,540 ตารางเมตร สามารถรองรับอากาศยานในชั่วโมงเร่งด่วน เครื่องบินพานิชย์ แบบ ATR 72 50 -70 ที่นั่ง หรือเครื่องบินพาณิชแบบ Q 400 ขนาด 86 ที่นั่ง พร้อมกัน 3 ลำในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การคมนาคมขนส่งภายในจังหวัดยะลา และการเชื่อมต่อสู่ประเทศมาเลเซียที่ด่านเบตงและพื้นที่ใกล้เคียงจะสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นจากปีละ 600,000 คน เป็น 1,000,000 คนต่อปี และมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี