นายสุเทพ คงมาก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 กรอบวงเงินงบประมาณเบื้องต้น 18,096.06 ล้านบาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายไป 2 งวด สำหรับชาวนาที่ปลูกข้าวชนิดเดียวกัน ส่วนต่างชนิด และแจ้งเก็บเกี่ยวไม่พร้อมกัน จะจ่ายเป็นงวดสุดท้าย โดยจะพิจารณาว่าชาวนาได้ส่วนต่างข้าวชนิดใด สูงสุด ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีให้ ส่วนรอบ 3 ต้องรอครม.ในวงเงิน 4.88 หมื่นล้านบาท เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ชาวนา สามารถตรวจสอบสถานะการโอนเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว แบบอัพเดทได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ https://chongkho.inbaac.com/
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มีเรียกประชุมด่วน ในวันที่ 30 พ.ย.นี้ สาเหตุจากงบประมาณเดิม ที่ นบข. ได้ขอไปก่อนหน้านี้ 4.88 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 4 พ.ย.นี้ คาดว่าจะไม่เพียงพอ โดยพิจารณาจากโครงการประกันรายได้เกษตรกร อ้างอิงจากปีที่แล้ว มีการเคาะชดเชยส่วนต่าง จำนวน 30 งวด แต่ถ้ากรณีเงินเหลือก็ไม่เป็นไร สำรองไว้ก่อนได้
นายสุเทพ กล่าวว่า จากการลงมาสำรวจข้าวหอมมะลิในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ระหว่างวันที่ 21-28 พ.ย. ระยะเวลา 8 วัน กำลังจะเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ เพื่อประชุม นบข.กับท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งจากการสำรวจข้าวในครั้งนี้ผมมาสำรวจข้าวล่องตั้งแต่อีสานใต้ เข้าจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ แล้วมุกดาหาร อำนาจเจริญ แล้วมาทางหนองคาย ซึ่งจะเห็นจากการติดประกาศ ราคาข้าวข้าวหอมมะลิ ที่รับซื้อ ข้าวหอมมะลิเกี่ยวสด อยู่ที่ 10,500 บาท/ตัน และตอนนี้ข้าวใกล้จะหมดแล้ว แล้วบางพื้นที่ เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวไปหมดแล้ว ตั้งแต่มุกดาหาร นครพนม อำนาจเจริญ จะเกี่ยวข้าวแล้วนำตากข้าวเพียบเลย ที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ให้ชาวนาเก็บข้าวไว้ขึ้นยุ้งฉาง เพื่อเข้าโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี แล้วชาวนาจะได้ค่าขึ้นยุ้งตันละ 500 บาท เก็บไว้ขายในช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ คาดว่าราคาข้าวน่าจะปรับขึ้น 11,000-12,000 บาท/ตัน
“ยอมรับราคาข้าวปีนี้ในต้นฤดูกาลไม่ดี เนื่องจากปีนี้มีปัญหาข้าวเปอร์เซนต์เมล็ดแดง จำนวนมาก เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ไม่ดี เกษตรกรเก็บไว้หลายปี ทำให้พันธุ์ข้าวเสื่อม ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกันมาตลอดว่าต้องรณรงค์ให้ความรู้เกษตรกรในเรื่องในการใช้เมล็ดพันธุ์ กรมการข้าวจะต้องไปส่งเสริม อย่างน้อยหากชาวนาไม่ซื้อ จะต้องให้เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวถูกวิธี หรือ เก็บพันธุ์ไว้ 2-3 ปี จะต้องเปลี่ยนพันธุ์ข้าวปลูกใหม่ อย่างที่ผมไปเจอ ก็ถามชาวนา ก็บอกว่าซื้อมาจากเพื่อนบ้าน แล้วเกษตรกรด้วยกัน ก็ไม่ได้บอกว่า ได้เก็บพันธุ์นี้มากี่แล้ว เป็นต้น จึงทำให้มีพันธุ์ปลอมปนมาก นี่เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอนาคตข้าวหอมมะลิไทย”
นายสุเทพ กล่าวว่า จากการประเมินข้าวปริมาณไม่มาก ข้าวหอมมะลิ จะถึง 6 ล้านตันข้าวเปลือกหรือไม่ ซึ่งไม่มีตัวเลขการสำรวจที่ชัดเจน ตอนนี้ที่ยืนยันชัดเจนอย่างเดียวคือ ตัวเลขยืนยันการขึ้นทะเบียนรับทราบผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 4,576,586 ครัวเรือน เนื้อที่ปลูก 60,817,850.83 ไร่ และยืนยันการรับเงินประกันรรายได้ แต่ไม่มีการยืนยันตัวเลขผลผลิต การเก็บเกี่ยว ซึ่งจริงๆ ตรงนี้เพื่อให้มีความสมบูรณ์ต้องยืนยันด้วย เพราะจะได้กำหนดความต้องการตลาดได้
“ปีนี้เป็นบทเรียน หากมีโครงการประกันรายได้ ปี3 รัฐบาลจะต้องรีบประกาศโครงการให้เร็ว ต้องเข้มงวดในการขึ้นทะเบียนชาวนา และต้องยอมรับว่าโครงการประกันรายได้ เป็นเรื่องที่ดี ช่วยเกษตรกรได้มาก ในยามภาวะที่ราคาข้าวตกต่ำ ผนวกกับ “จำนำยุ้งฉาง” ทำให้ชาวบ้านได้รู้จักการเรียนรู้ที่จะค้าขายข้าวหากข้าวมีปริมาณในตลาดมากไม่ขายให้เก็บไว้ขายตอนราคาดี สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ ต้องพัฒนาข้าวให้ได้คุณภาพด้วย จะทำให้ราคาข้าวจะไม่ถูกกดราคา และที่สำคัญทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างราคามากเกินความจำเป็น”
นายสุเทพ กล่าวว่า อีกสาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวหอมมะลิต้นฤดู แม้ว่าผลผลิตจะมีน้อย แล้วเริ่มต้นที่ราคา 8,000 บาท/ตัน ไม่ใช่จะโทษตลาดอย่างเดียว แต่มีสาเหตุมาจากข้าวไม่มีคุณภาพ ข้าวเปียก เพราะมีพายุเข้ามาหลายลูกในขณะนั้น ซึ่งราคาประกันหากรัฐบาลตั้งราคาสูง อานิสงค์จะตกที่เกษตรกร แต่บิดเบือนกลไกตลาดหรือไม่ หากบิดเบือนกลไกตลาด คนที่รับผิดชอบก็คือ “รัฐบาล”
ด้านนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ในช่วงต้นฤดูกาล ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้วนำข้าวเปลือกขึ้นมา ตากจำนวนมาก เนื่องจากราคาข้าวไม่ค่อยดี และมีบางพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ข้าวล้ม จมน้ำ จึงทำให้คนซื้อก็ไม่ค่อยอยากจะซื้อ พอตากแห้งส่วนหนึ่งที่เห็นว่าราคาขยับขึ้น ก็ทยอยนำไปขายไปก่อน บางส่วนก็รอขึ้นจำนำยุ้งฉาง ก็มีบางพื้นที่เก็บเกี่ยวหมดแล้ว บางพื้นที่ก็กำลังเก็บเกี่ยว 60-70% ต้องยอมรับว่าปีนี้ล่าช้ามาก จากเดิม คาดการณ์ว่า กข15 จะออกผลผลิตกลางเดือน ตุลาคม ผลผลิตเลื่อนออกไปเป็นปลายเดือนตุลาคม ต่อมาได้มีการคาดการณ์ว่า ข้าวหอมมะลิ105 ผลผลิตคาดจะทยอยออกมาช่วงวันที่ 10 พ.ย.2563 ล่าช้าออกไปถัดอีก 5 วัน จะเห็นว่าในแต่ละช่วงมีความล่าช้ากว่า 10 วัน เพราะอากาศทำให้ข้าวในบางพื้นที่สุกช้า หรือสุกเร็ว และปีนี้รถเกี่ยวที่ไปทางภาคอีสานไม่ค่อยหนาตา บวกกับเกษตรกรตากข้าวเก็บด้วย จึงทำให้ปริมาณข้าวออกสู่ตลาดน้อยลง จึงเป็นเหตุให้ผู้ที่รับคำสั่งซื้อไว้จะต้องเร่งซื้อ ซึ่งทำให้เกิดแรงดึงตลาดที่เห็นราคาข้าวขยับขึ้น แต่จะได้แค่ไหน ก็คาดเดายาก
สถานการณ์ราคาข้าวเปลือก/ข้าวสาร ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 อ้างอิง หรือคลิก สมาคมโรงสีข้าวไทย
อนึ่ง ทางกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 รับทราบผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 4,576,586 ครัวเรือน เนื้อที่ปลูก 60,817,850.83 ไร่ ซึ่งจะมีการเคาะประกันรายได้ข้าว งวดที่4 ในวันที่ 30 พ.ย.นี้
เกษตรกรสามารถตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกรผ่าน chongkho.inbaac.com ที่เมนู “ตรวจสอบผลการรับการสนับสนุนตามโครงการรัฐ” ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เปิดขึ้นมาให้เกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับหน่วยงานของรัฐเรียบร้อยแล้ว เข้าไปตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลว่าท่านมีสิทธิได้รับเงิน และมีการโอนเงินเข้าบัญชีแล้วหรือไม่
วิธีตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกรผ่าน chongkho.inbaac.com มีขั้นตอนง่ายๆดังนี้
1.เข้าไปที่ chongkho.inbaac.com
2. กรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เสร็จแล้วกดค้นหา
3. กรณีเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้ หากได้รับการโอนเงินแล้วระบบจะมีการแจ้งว่าโอนเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการระบุชื่อโครงการประกันรายได้เกษตรกรที่ท่านได้รับสิทธิ์ /เลขที่บัญชี /วันที่โอน /สาขาธกส. / พร้อมระบุ สถานะ สำเร็จ
แต่ถ้ายังไม่ได้รับการโอนเงินประกันรายได้เกษตรกร ระบบจะขึ้นข้อมูลว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ ต้องรอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งข้อมูลเกษตรกรรายได้มาให้ธ.ก.ส.ก่อน เมื่อได้รับข้อมูลแล้ว ธ.ก.ส.จะทำการโอนเงินประกันรายได้ให้ภายใน 3 วันทำการ
อย่างไรก็ตามการตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกรผ่าน chongkho.inbaac.com หากไม่ใช่เกษตรกรจะขึ้นข้อความ ไม่พบข้อมูลการขึ้นทะเบียน โปรดติดต่อหน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียน ตามชนิดพืชที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการ
เกษตรกรยังสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินประกันราคาข้าวได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connec
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ประกันรายได้ข้าว” ข้าวต่างชนิด-แจ้งวันเก็บเกี่ยว ไม่พร้อมกัน จะได้เงินวันไหน เช็กที่นี่
เฮลั่น ธ.ก.ส. นัดโอน “เงินช่วยชาวนา" ไร่ละ 500 รับสูงสุด 10,000 บาท 1 ธ.ค.นี้