นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานประชุมสัมมนาของสมาคมส่งเสริมการค้าอาเซียน หัวข้อ“การส่งเสริมการค้า ไทย-CLMV: ปัญหา-โอกาสในปัจจุบันและอนาคตหลัง Covid คลี่คลาย จะเป็นอย่างไร?!” ว่า CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนามเป็นคู่ค้าที่สำคัญมากของไทย การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยไปยัง CLMV ช่วง 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่ารวม 431,589 ล้านบาท ลดลง 7.33% แบ่งเป็นการส่งออก 278,146 ล้านบาท ลดลง 9.44% และการนำเข้า 153,442 ล้านบาท ลดลง 3.26% เกินดุลการค้า 124,704 ล้านบาท โดยสาเหตุที่มูลค่าการค้าดังกล่าวปรับตัวลดลง ได้แก่ ผลกระทบจากการแพร่ระบาด ของโควิด-19 ทำให้มีการปิดด่านชายแดนการค้า
อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในภูมิภาค CLMVT มีประมาณ 88,000 คน คิดเป็น 0.14% จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก (62 ล้านคน) แต่จำนวนผู้ติดเชื้อดังกล่าวถือเป็นส่วนน้อยของภูมิภาค CLMVT ซึ่งมีจำนวนประชากรรวม 244 ล้านคน และมีกำลังแรงงานคิดเป็น 55% ของจำนวนประชากรรวมดังกล่าว ซึ่งแสดงถึงจุดแข็งด้านกำลังแรงงานที่พร้อมรองรับการค้าการลงทุนทั้งนี้ ปี 2562 CLMVT มี อัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ประชากรต่อหัว ที่ 5.04% สูงกว่าของโลก (1.87%) แสดงให้เห็นว่า รายได้ต่อหัวของประชากร CLMVT เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจ CLMVT ยังมีศักยภาพในการเติบโตต่อไปในอนาคต
ด้านน.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวถึงการประเมินประเมินสถานการณ์การค้าในประเทศ CLMV ว่า จาการระบาดของโควิด19 ทำให้เป็นตัวเร่งกระแสการปกป้องทางการค้าของกลุ่มประเทศดังกล่าว และตระหนักถึงความเสี่ยงและไม่พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป และเกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยีสร้างโอกาสให้ธุรกิจรูปแบบใหม่ และจากการบรรลุความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ทำให้เกิดเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดที่ในโลกหรือ Mega FTA ที่จะดึงดูดการลงทุนและสนับสนุนการขยายการค้าในภูมิภาค และแนวคิดตลาดนำการผลิตเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร โดยสินค้าเกษตรจะได้ประโยชน์จากอาร์เซป เช่น ผัก ผลไม้แปรรูป และไม่แปรรูป น้ำมันที่ได้จากพืชของปรุงแต่งจากธัญพืช ช่วยให้เกษ๖รกร ผู้ประกอบการขนาดหลางและเล็ก รวมทั้งขนาดใหญ่เชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าของโลกและช่วยเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19
จากปัจจัยต่าง ๆ ต่อไปอาเซียนจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้นและลดการพึ่งพาจีนและกระจายสายการผลิตได้มากขึ้น รวมทั้งอาเซียนจะมีบทบาทในการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบและสินค้า โดยขณะนี้อาเซียนอยู่ระหว่างการจัดทำกรอบดำเนินการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียนจากวิกฤติโควิด-19