ไทยเคยเป็นผู้ผลิตและส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลก กระทั่งมาเจอปัญหาเรื่องสารไนโตรฟูแรนซ์ตกค้าง ถูกสหรัฐฯเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมีปัญหาโรคตายด่วน (EMS) ทำให้มีปริมาณผลผลิตกุ้งไม่เพียงพอในการเพื่อส่งออก ส่งผลอันดับโลกร่วงลงมาตามลำดับ (ปัจจุบันไทยอยู่อันดับ 5 มาตั้งแต่ปี 2557) หากปล่อยสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปจะเกิดวิกฤติที่ยากจะฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งให้คืนกลับมาได้ และจะส่งผลถึงเกษตรกร และโรงงานแปรรูปที่นับวันต้องปิดตัวลง
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์พื้นที่เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศในปี 2563 ว่า คาดจะใกล้เคียงกับปี 2562 เนื่องจากราคากุ้งขาวแวนาไมมีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้ว ไม่จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ และผลผลิตกุ้งต่อไร่ในปี 2563 คาดมีแนวโน้มลดลง (กราฟิกประกอบ) เนื่องจากเกษตรกรยังคงประสบปัญหาการระบาดของโรคกุ้ง เช่น โรคขี้ขาว ไวรัสตัวแดงดวงขาว ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลง ส่งผลให้เกษตรกรบางรายลดจำนวนบ่อเลี้ยงหรือชะลอการปล่อยลูกกุ้ง หรือปล่อยลูกกุ้งในอัตราที่น้อยลงส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ ส่งผลภาพรวมปริมาณผลผลิตทั้งประเทศลดลงเล็กน้อย
อย่างไรก็ดีตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปีนี้เป็นต้นมาสถานการณ์โควิดในประเทศดีขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ความต้องการของตลาดต่างประเทศเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 บนบรรจุภัณฑ์สินค้ากุ้งแช่แข็งที่นำเข้าจากเอกวาดอร์ จึงระงับการนำเข้า อาจเป็นโอกาสของการส่งออกกุ้งไทยไปยังตลาดจีน และตลาดอื่นๆ ที่จะทำให้มีการคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวสาเหตุที่ราคากุ้งในประเทศขยับสูงขึ้นในช่วงนี้ ปัจจัยหลักจากผลผลิตมีน้อย โรงงานแปรรูป (ห้องเย็น) แย่งซื้อเก็บสต๊อกเพื่อส่งมอบลูกค้าจากความต้องการมีเข้ามาเรื่อยๆ
สอดคล้องกับนายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวถึง สถานการณ์ราคา ประมูล/ซื้อ/ขายกุ้ง ในเขตพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ณวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 ในเขตพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช กุ้งขาวแวนนาไมสดขนาด 32 ตัวต่อกิโลกรัม (กก.)อยู่ที่ 243 บาท ต่อกก. ,ขนาด 72 ตัวต่อกก. 158 บาท, พื้นที่ จ.ปัตตานี ขนาด 74 ตัวต่อ กก. 152 บาท, พื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ขนาด 42 ตัวต่อ กก. 220 บาท ขนาด 48 ตัวต่อกก. 205 บาท ถือเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ
อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯ ได้ยกร่างโครงการฟื้นฟูเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งหลังวิกฤติโควิด-19 จำนวน 2 โครงการ โดยนำเสนอผ่าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อขอเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงโครงสร้างระบบการเลี้ยงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมกุ้งทะเลของประเทศไทยอย่างยั่งยืน วงสินเชื่อรวม 2,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของฟาร์มและความสามารถในการชำระเงิน โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันกู้เงิน เป้าหมาย 2,000 ราย จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อหน่วยและการลดต้นทุนการผลิต ทั้งในส่วนต้นทุนพลังงานไฟฟ้าและต้นทุนแฝงต้านโรค ลดความเสี่ยงที่ทำให้กุ้งอ่อนแอ”
2. โครงการลดพลังงานด้วยพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์และระบบควบคุมเครื่องเติมอากาศอัจฉริยะ สำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล วงเงินสินเชื่อ 4,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการติดตั้งชุดระบบ Solar cell ระบบควบคุมคุณภาพนํ้า/เติมอากาศอัจฉริยะในฟาร์ม จำนวนเกษตรกร ไม่เกิน 2,000 ราย วงเงินกู้รายละไม่เกิน 2 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดฟาร์มและความสามารถในการชำระเงิน ภาครัฐชดเชยดอก เบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่กู้เงิน ซึ่งหากทั้ง 2 โครงการได้รับไฟเขียวหวังจะช่วยสร้างความมั่นคงและสร้างเสถียรภาพด้านราคากุ้งให้กับเกษตรกรได้รับราคาที่ดีอย่างต่อเนื่อง
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,632 วันที่ 3 - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2563
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้เลี้ยงเฮ ราคา "กุ้ง" ขยับกิโลฯ ละ 200 บาท ฝันได้ราคาดียาว