ความคืบหน้า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ตามมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท. ) ทั้งบัตรสีเขียว และบัตรสีชมพู ซึ่งแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยาง ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1,834,087 ราย พื้นที่สวนยางกรีดได้ 18,286,186.03 ไร่ กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563–มีนาคม 2564 ราคายางที่ประกันรายได้ กำหนดให้ยางแผ่นดิบคุณภาพดี อยู่ที่ 60.00 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23.00 บาท/กิโลกรัม ส่วนปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ ผลผลิตยางแห้ง 20 กก./ไร่/เดือน ยางก้อนถ้วย 40 กก./ไร่/เดือน รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยแบ่งสัดส่วนรายได้แก่เจ้าของสวน 60% และคนกรีด 40%
วันที่ 9 ธันวาคม 2563 ล่าสุด นายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.) และกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากการสอบถามไปยังชาวสวนทั้งประเทศ พบว่า วันนี้ ธ.ก.ส. ได้ทยอยโอนเงินในส่วนของเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.(บัตรสีเขียว)และพี่น้องชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่แจ้งข้อมูลกับ กยท.(บัตรสีชมพู) ที่เคยเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เฟส 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามชนิดยางที่รัฐบาลจ่ายส่วนต่าง งวดที่หนึ่ง ประจำเดือนตุลาคม 2563 จะใช้กำหนดราคายางพาราอ้างอิงย้อนหลัง 60 วัน คือตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน – 23 พฤศจิกายน 63 โดยราคายางแผ่นดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 62.62 บาท/กก. ราคาน้ำยางสดอยู่ที่ 52.86 บาท/กก. ชดเชย 4.14 บาท/กก. และราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) อยู่ที่ 19.09 บาท/กก. ชดเชย 3.19 บาท/กก.
ส่วนกรณีอื่นเริ่มโอนเงินไปตามการรับรองสิทธิของคณะทำงานระดับตำบล แต่คาดว่าคงจบภายในเดือนธันวาคม ตามที่รัฐมนตรีฯ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ต้องการมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่พี่น้องชาวสวนยาง
อย่างไรก็ตาม "ฐานเศรษฐกิจ" ได้ไปสำรวจตามเฟซบุ๊ก ในกลุ่มต่างๆ ต่างก็โพสต์แสดงความดีใจ และขอบคุณ รัฐบาลและแกนนำชาวสวนยาง ที่ได้ทำเพื่อให้ได้รับส่วนต่างประกันรายได้ยางพารา เป็นปีที่2 โดยเฉพาะพี่น้องชาวสวนยางบัตรสีชมพู
ดังนั้นพี่น้องชาวสวนยาง ลองตรวจสอบสิทธิ์ ผ่านเว็บไซต์ www.rubber.co.th/gir/index เบื้องต้นก่อน หากสงสัย หรือไม่พบข้อมูลการขึ้นทะเบียน สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กยท. สำนักงานใหญ่ กยท.จังหวัด / กยท. สาขา ทั่วประเทศ
เกษตรกร สามารถตรวจสอบผลการโอนเงินประกันราคาข้าวยางพารา ได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect
เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา สามารถตรวจสอบสถานะการจ่ายเงินประกันรายได้ข้าวด้วยตัวเอง ที่ chongkho.inbaac.com จากนั้นให้กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เสร็จแล้วกดค้นหา หากเงินเข้าระบบแล้วจะมีการแจ้งว่าโอนเรียบร้อยแล้ว แต่หากยังไม่เข้าให้รอข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง ธ.ก.ส.จะทำการโอนให้เสร็จสิ้นภายใน 3 วันทำการ
ล่าสุดนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็น ประกันรายได้ยางพารา ซึ่งมีเกษตรกรได้สอบถามมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ว่าสำหรับผู้ถือบัตรสีชมพูจะสามารถได้รับเงินส่วนต่างหรือไม่นั้น วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอ ซึ่งมีผลชัดเจนแล้วว่า ผู้ที่จะได้รับเงินส่วนต่างจะมีทั้งเกษตรกรชาวสวนยางที่ถือบัตรสีเขียว และที่ถือบัตรสีชมพูด้วย โดยผู้ถือบัตรสีเขียวมีประมาณ 9.6 แสนราย ส่วนผู้ถือบัตรสีชมพู จะมีประมาณ 3.4 แสนราย รวมแล้วจะมีเกษตรกรชาวสวนยางที่จะได้รับเงินส่วนต่างประมาณ 1.3 ล้านรายทั่วประเทศจากทุกภาค
การยางแห่งประเทศไทยรายงานว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะ Kick off จ่ายเงินส่วนต่างพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 11 ธันวาคม 2563 เวลา 10.30 น.โดยจะมีการจัดงานที่อำเภอท้ายเหมืองจังหวัดพังงา ด้วย ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการรับรู้ประชาชนและเกษตรกรชาวสวนยาง