นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน Kick off หรือกดปุ่มจ่ายโอนเงินส่วนต่างประกันรายได้ชาวสวนยางพาราปีที่ 2 ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบเรื่องที่นายจุรินทร์เสนอเรื่องเข้าจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้เกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างจะมีทั้งเกษตรกรชาวสวนยางที่ถือบัตรสีเขียวหรือผู้มีเอกสารสิทธิและที่ถือบัตรสีชมพูหรือเกษตรกรกลุ่มด้อยโอกาสที่แจ้งปลูก โดยผู้ถือบัตรสีเขียวมีประมาณ 9.6 แสนราย ส่วนผู้ถือบัตรสีชมพูจะมีประมาณ 3.4 แสนราย รวมแล้วจะมีเกษตรกรชาวสวนยางที่จะได้รับสิทธิเงินส่วนต่างประมาณ 1.3 ล้านรายทั่วประเทศ แต่ด้วยการประกาศราคาเกณฑ์กลางงวดนี้จะได้รับการชดเชย 2 ชนิดคือยางก้อนถ้วย น้ำยางสดเท่านั้น เพราะน้ำยางดิบได้ประโยชน์จากราคายางที่สูงทะลุราคาประกันรายได้ไปแล้ว
“วันนี้เกษตรกรชาวสวนยางพาราจะได้รับส่วนต่างพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งนายจุรินทร์ระบุว่าโครงการประกันรายได้เกิดจากนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่เข้าร่วมรัฐบาลและให้หลักประกันความมั่นคงทางอาชีพเกษตรกรและแถลงต่อรัฐสภามาแล้วและได้ดำเนินการสำเร็จมาแล้ว 1 ปีขณะนี้เดินหน้าปีที่2 โครงการนี้มีหลักคือถ้าราคายางตกต่ำเกษตรกรจะได้ส่วนต่างมาชดเชย เกษตรกรจะได้เงิน 2 กระเป๋านั่นเอง และการจ่ายเงินส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 หรือประกันรายได้ยางพาราปี2 สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ทั่วประเทศจะครอบคลุมเกษตรกรชาวสวนยางพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 18 ล้านไร่ โดยยึดหลักเกณฑ์เดิมตามโครงการระยะที่ 1 ประกันรายได้ยาง 3 ชนิด”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จ่ายจริง! "เงินประกันรายได้ยางพารา"ผู้ถือบัตรสีเขียวและสีชมพู
เงิน "ประกันรายได้ยางพารา" ธ.ก.ส. แจ้งโอนยืนยัน กว่า 9 แสนราย
ตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกร “ประกันรายได้ยางพารา” งวด1 “ยางก้อนถ้วย” จ่ายสูงสุด 3,910 บาท
คือ 1)ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม 2)น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และ3)ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ คือ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวนไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวนไม่เกิน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดยางไปแล้วรายละไม่เกิน 25 ไร่ มีสัดส่วนแบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของ 60% และคนกรีดยาง 40% ส่วนระยะเวลาโครงการ เดือนกันยายน 2563 – กันยายน 2564
ทั้งนี้รายงานข่าวการยางแห่งประเทศไทย ระบุว่าสำหรับจังหวัดพังงา ข้อมูลโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดพังงาพื้นที่สวนยางทั้งหมด 734,430 ไร่ชาวสวนยางขึ้นทะเบียนและแจ้งพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทยจำนวน 34,095 รายเนื้อที่สวนยางบัตรสีเขียว 20,694 ราย พื้นที่ 302,904 ไร่ บัตรสีชมพู 13,401 รายพื้นที่ 214,509 ราย โดยเมื่อปีก่อนเกษตรกรชาวสวนยางได้รับเงินช่วยเหลือไปแล้วจำนวน 20,600 ราย ส่วนปีนี้โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่2 จ่ายเงินรอบที่หนึ่งในวันที่ 11 ธันวาคม 2563 เกษตรกรพังงาได้รับเงินช่วยเหลือ 16,421 ราย แบ่งเป็นบัตรเขียวจำนวน 13,652 ราย บัตรชมพูจำนวน 4179 รายแต่งวดนี้ชดเชยเฉพาะยางก้อนถ้วยและน้ำยางสดเนื่องจากราคายางแผ่นดิบสูงกว่าราคาประกัน
ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ระบุว่า ส่วนมาตรการเสริมที่นายจุรินทร์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และดูแลกระทรวงเกษตรฯผลักดันให้รัฐบาลอนุมัติซึ่งเป็นมาตรการคู่ขนานที่เป็นปัจจัยกระตุ้นราคาที่สำคัญคือ 1. มาตรการกำกับดูแลด้านปริมาณ ผู้ประกอบกิจการยางที่มีปริมาณการรับซื้อตั้งแต่เดือนละ 5,000 กก.ขึ้นไป แจ้งปริมาณการซื้อ ปริมาณการจำหน่าย ปริมาณการใช้ไป ปริมาณคงเหลือ และ สถานที่เก็บสินค้ายางพารา ตลอดจนให้จัดทำบัญชีคุมรายวัน 2. ส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ระหว่าง ต.ค. 62 - ก.ย. 65 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อ 5 โครงการ คือ โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ 1 เม.ย. 63 - 31 มี.ค. 64 โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา วงเงิน 5,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 1 ก.ย. 57 - 31 ธ.ค. 67 โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) (20,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน ม.ค. 63 – ธ.ค. 64 โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ ปี 59 – 69 โดยสนับสนุนวงเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราร้อยละ 3 ไม่เกิน 600 ล้านบาท