หลังประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2563 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา
ใจความสำคัญคือ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการและร้านค้าบางส่วนใช้ช่องทางในการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น ทำให้ยากต่อการควบคุมเกี่ยวกับเรื่องวัน เวลา สถานที่และบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่ายและลดผลกระทบอันเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
จึงมีความจำเป็นในการออกประกาศ ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้บริโภคโดยตรงหรือเป็นการดำเนินการใดๆ ในลักษณะการเชิญชวนให้ซื้อการเสนอขายหรือขายสินค้าหรือบริการต่อผู้บริโภคโดยตรงด้วยการตลาดหรือบริการการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์
โดยผู้ขายและผู้บริโภคซื้อขายได้โดยไม่ต้องพบกัน ซึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีการซื้อขายและการชำระราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ณ ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้การจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม จากผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงโมเดิร์นเทรดต้องหยุดลงทั้งหมด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โวย ห้ามขายออนไลน์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไร้ความชัดเจน แถมฝืนกระแสโลก
ต่อเรื่องดังกล่าว นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ ตัวแทนจากชมรมผู้นำเข้าและจำหน่ายคราฟท์เบียร์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประกาศดังกล่าวขาดความชัดเจน โดยเฉพาะแนวทางการปฏิบัติ และไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ทั้งการลดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับและการเพิ่มจำนวนนักดื่มหน้าใหม่หรือนักดื่มเยาวชน เพราะการสั่งซื้อออนไลน์สามารถกำหนดหรือตรวจสอบอายุผู้ซื้อผ่านไอดี ดิจิทัล ที่สามารถตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลได้
ขณะที่การห้ามขายออนไลน์จะส่งผลกระทบต่อสตาร์ตอัพและผู้ประกอบการรายย่อยที่เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการกดดันทำให้ต้องหาทางออกด้วยการขายใต้ดินแทนซึ่งนอกจากจะไม่ต้องเสียภาษีแล้ว รัฐบาลเองก็ยังขาดรายได้ อีกทั้งจากช่องว่างของกฎหมายที่ควบคุมและดำเนินการเอาผิดได้เฉพาะจากเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มในประเทศเท่านั้นทำให้เชื่อว่าผู้ประกอบการจะหันไปจดทะเบียนเว็บไซต์ในต่างประเทศเพื่อจำหน่ายแทน
“วันนี้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสตาร์ตอัพหลายร้อยชีวิต ต้องประสบปัญหาอย่างหนักและปิดกิจการ เพราะไม่สามารถขายได้ รวมถึงผู้ประกอบการไวน์ผลไม้ ไวน์ไทยที่ส่วนใหญ่เป็นการขายตรงกับผู้ดื่มผ่านช่องทางออนไลน์ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาเดียวกัน ถามว่ารัฐบาลแก้ปัญหาได้ถูกจุดหรือไม่ หากรัฐบาลต้องการลดหรือจำกัดนักดื่มหน้าใหม่หรือเยาวชน ก็ต้องมีวิธีที่ตรวจสอบได้ เช่น ไอดี ดิจิทัล”
การออกประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ ทั่วโลกไม่มีใครทำ หลายประเทศมีปัญหาแบบเดียวกับไทย แต่เขาเลือกที่จะให้ความรู้ ความเข้าใจจึงควบคุมปัญหาต่างๆ ได้ดี ผิดกับประเทศไทย ที่เลือกการรณรงค์ต่อต้าน เพราะเชื่อว่าจะเห็นผลทันที แต่จริงๆ ไม่ใช่
นายอาชิระวัสส์ กล่าวอีกว่า วันนี้ผู้ประกอบการต้องหันไปใช้วิธีการขายแบบดั้งเดิม คือ ขายผ่านคอลเซ็นเตอร์ และจัดส่งให้ถึงบ้าน (ดีลิเวอรี) เพราะกฎหมายไม่ได้ควบคุม อีกแนวทางคือการสนับสนุนให้ผู้บริโภค หันไปขึ้นทะเบียนร้านค้า พร้อมยื่นขอใบอนุญาตจำหน่ายสุราซึ่งเสียภาษีน้อยมาก เพื่อสั่งซื้อในนามของร้านค้า ในรูปแบบ B2B (Business to Business) เพราะกฎหมายไม่ครอบคลุม แต่สามารถสั่งซื้อได้แบบไม่ผิดกฎหมาย
“เชื่อว่าการออกประกาศนี้เป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกวิธี จึงอยากให้รัฐบาลหันมาพูดคุยถึงปัญหาและทางออกร่วมกัน ไม่ใช่เป็นเพียงเสือกระดาษ ซึ่งหากไม่ยกเลิกประกาศนี้ ก็ขอให้เพิ่มข้อความว่า ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชนแทน และขอให้กำหนดเงื่อนไขหรือความชัดเจนในการปฏิบัติให้มากกว่านี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งทางตรงและที่เกี่ยวข้องสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อได้”
หน้า 01 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 40 ฉบับที่ 3,635 วันที่ 13 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563