วันที่ 16 ธันวาคม 2563 สมาคมกุ้งไทย นำทีมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ แถลงถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมกุ้งในรอบปี 2563 และทิศทางแนวโน้มปี 2564
นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เผยว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงของไทยในปี 2563 โดยรวมคาดจะอยู่ที่ 270,000 ตัน ลดลง 7% เมื่อเทียบกับผลผลิตกุ้งปี 2562 ที่มีผลผลิตประมาณ 290,000 ตัน ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเรื่องโรคระบาดในกุ้งที่ยังมีเป็นระยะ ความไม่มั่นใจเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของเกษตรกรในการลงลูกกุ้ง รวมถึงและสถานการณ์ราคาที่ปรับตัวลดลง ขณะที่การส่งออกกุ้งในปี 2563 คาดจะส่งออกได้ประมาณ 1.5 แสนตัน ลดลง 14% มูลค่า 4.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 21% เมื่อเทียบกับปี 2562
“ผลผลิตกุ้งไทย ปี 2563 คาดจะผลิตได้ 270,000 ตัน (เป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนล่างสัดส่วน 36% จากภาคใต้ตอนบน 32 % จากภาคตะวันออก 21% และจากภาคกลาง 11%) โดยปัญหาที่พบคือโรคระบาด และความไม่แน่ใจในสถานการณ์โควิด-19 ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกปี 263 คาดจะอยู่ที่ประมาณ 3.3 ล้านตัน ลดลง 3% เนื่องจากประเทศผู้ผลิตกุ้งหลัก ๆ มีผลผลิตกุ้งลดลงแทบทุกประเทศ ยกเว้นเอกวาดอร์ที่มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น”
สำหรับในปี 2564 คาดไทยจะสามารถผลิตกุ้งได้ที่ 310,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ 15% และการส่งออกทั้งในแง่ปริมาณ และมูลค่าในปี 2564 คาดจะเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ 15% เช่นเดียวกัน(คาดปี 2564 จะส่งออกได้ 1.72 แสนตัน มูลค่า 5.06 หมื่นล้านบาท) มีปัจจัยบวกจากไทยมีระบบการเลี้ยงที่ดี รวมถึงสินค้าจากโรงงานแปรรูป(ห้องเย็น)ปลอดจากเชื้อโควิด สร้างความมั่นใจคู่ค้า เฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าจากจีนที่นำเข้ากุ้งต้มจากไทยเพิ่ม จากคู่แข่งคือเอวาดอร์สินค้าปนเปื้อนเชื้อโควิดและถูกแบน นอกจากนี้ไทยมีลูกกุ้ง โรงเพาะฟัก และระบบบริหารจัดการที่ดี การเลี้ยงกุ้งมีอัตรารอดสูง ทั้งนี้ไทยมีศักยภาพที่จะผลิตกุ้งในปี 2564 ได้เพิ่มมากกว่า 15% แต่ขึ้นกับตัวแปรคือ เศรษฐกิจโลก วัคซีนโควิด ตลาด และผู้บริโภค
อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าจับตาการบริโภคกุ้งในประเทศของไทยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2562 จากผลผลิตกุ้ง 290,000 มีการบริโภคในประเทศ 75,750 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 25% ของผลผลิต แต่ปีนี้เป็นปีพิเศษที่มีการระบาดของโควิด ทำให้เกษตรกรและผู้ค้าหันมาทำตลาดในประเทศมากขึ้น ทำให้กุ้งได้รับความนิยมในการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น คาดปี 2563 การบริโภคกุ้งในประเทศจะมีประมาณ 100,000 ตัน ในอนาคตอีกไม่ต่ำกว่า 5 ปีข้างหน้า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการส่งเสริมการบริโภคกุ้งในประเทศ จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการบริโภคเป็น 50% ของผลผลิตได้ และจะช่วยให้ราคากุ้งมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะไม่ต้องไปพึ่งพาตลาดส่งออกที่มีความผันผวนด้านราคาสูงมากเกินไป ขณะที่เวลานี้ราคากุ้งไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันทั้งเวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย จากเงินบาทที่แข็งค่า สินค้าราคาสูงกว่าคู่แข่งขัน มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของคู่ค้าและผู้บริโภคปลายทาง ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยดูแลเรื่องค่าเงินบาท ไม่ให้เสียเปรียบคู่แข่งขันด้วย
สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย
นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่างว่า ผลผลิตปี 2563 คาดการณ์ว่ามีผลผลิตประมาณ 98,000 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 3% จากการระบาดของโรคตัวแดงดวงขาวในจังหวัดนครศรีธรรมราช และสงขลาเมื่อช่วงต้นปี และปัญหาอาการขี้ขาวโดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งอันดามัน จากปัญหาโรคระบาดดังกล่าวทำให้เกษตรกรหลายรายมีการปรับรูปแบบการเลี้ยง เช่น การปรับเป็นบ่อขนาดเล็ก การใช้พีอีปูพื้นบ่อ และปล่อยความหนาแน่นบางลง เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องโรคระบาด อย่างไรก็ดีคาดผลผลิตกุ้งภาคใต้ตอนล่างปี 2564 จะเพิ่มขึ้นได้ 5%
“ราคากุ้งช่วงนี้ขยับขึ้นจากผลผลิตมีน้อย และใกล้ช่วงปีใหม่ มีผู้ซื้อมากกว่าผู้ขาย ทำให้ราคากุ้งขยับขึ้นในช่วงสั้น ๆ แต่ระยะต่อไปคาดจะทรง ๆ เหมือนที่ผ่านมา”
นายสมชาย ฤกษ์โภคี นายกสมาคมกุ้งทะเลไทย และเลขาธิการสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งปี 2563 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนประมาณ 85,000 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย แต่ขนาดกุ้งเฉลี่ยใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัญหาขี้ขาวในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึง EMS และไวรัสตัวแดงดวงขาว ทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมกุ้งไทยนับว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดน้อยกว่าอาชีพอื่น และจากการดำเนินการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลกรวมถึงทั้งภาคผู้เลี้ยงและโรงงานแปรรูปใส่ใจเรื่องสุขอนามัยของคนงาน ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้สินค้ากุ้งไทยเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของผู้บริโภค
นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย และกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งปี 2563 ในพื้นที่ภาคตะวันออกประมาณ 57,000 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 17% จากต้นปี 2563 ที่ผ่านมา จ.ฉะเชิงเทราประสบปัญหาภัยแล้ง ลูกกุ้งไม่พอช่วงโควิด -19 นอกจากนี้ จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ประสบปัญหาการเลี้ยงจากอาการขี้ขาวรุนแรง และโรคตัวแดงดวงขาวพบอยู่ทั่วไป ส่วนผลผลิตภาคกลาง ประมาณ 30,000 ตัน ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ปี 2562 ภาคตะวันออกมีผลผลิตกุ้ง 32,000 ตัน) จากปัญหาอาการขี้ขาว และพบโรคหัวเหลืองมากในช่วงต้นปี และฤดูหนาว
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ-ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ กล่าวว่า การเลี้ยงกุ้งของไทยในปี 2563 เกษตรกรทุกพื้นที่ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาโรคระบาด ทั้งอาการขี้ขาว ตัวแดงดวงขาว และโรคตายด่วน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการเลี้ยงและเป็นต้นทุนแฝงกับเกษตรกร ทุกวันนี้อุตสาหกรรมกุ้งเปลี่ยนไปมากจากเดิมที่ไทยเป็นอันดับต้น ๆ ในด้านการผลิตกุ้ง เพราะมีปัจจัยที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ เรื่องพันธุ์กุ้ง อาหาร และผู้แปรรูปส่งออกที่มีฝีมือ แต่ปัจจุบันสถานการณ์กุ้งเปลี่ยนไปมาก ไทยตกไปอยู่อันดับ 6 หรือ 7 ซึ่งเกิดจากการไม่มีการวางแผนในการนำสินค้ากุ้งไปสร้างตลาดในต่างประเทศอย่างจริงจัง เราต้องหันมาร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง บริษัทอาหาร ปัจจัยการผลิต ผู้ส่งออก และภาครัฐ นำคำว่ากุ้งไทยกลับมาสู้กับตลาดโลก เพื่อเป็นผู้ผลิตอันดับต้นๆ ของโลกอีกครั้ง
“ประเทศไทยและอุตสาหกรรมกุ้งไทยมีความได้เปรียบด้านภาพลักษณ์ในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยอาหาร และปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ทั้งเป็นแหล่งผลิตลูกพันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก อาหารกุ้งที่มีประสิทธิภาพ และการที่ไทยสามารถบริหารจัดการเรื่องโรคโควิด-19 ในการควบคุมและจัดการโรคที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล ส่งผลให้ประเทศไทยได้เปรียบกว่าประเทศคู่แข่ง แต่เกษตรกรต้องผลิตกุ้งให้ได้ และต้องลดความเสียหายจากโรคให้ได้ โดยภาครัฐโดยเฉพาะกรมประมงจะต้องดำเนินการศึกษาวิจัยและหาแนวทางในการแก้ปัญหาโรคระบาด โดยเฉพาะอาการขี้ขาว ซึ่งเป็นต้นทุนแฝงให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง”
ทั้งนี้ภาครัฐจะต้องสนับสนุนส่งเสริมทั้งในด้านการผลิตและการตลาด การประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยใช้จุดเด่นที่มี คือ กุ้งคุณภาพ ระบบการผลิตที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งระบบ โดยไม่ต้องแข่งขันด้านราคากับประเทศผู้ผลิตที่มีต้นทุนถูกกว่า การเจรจากับตลาดคู่ค้าเพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ รวมถึงการเจรจา FTA โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร การให้โอกาสเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน การเสริมสภาพคล่อง การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการผลิต ภาคการส่งออก และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าหากไทยใช้ศักยภาพเหล่านี้เต็มที่ โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะเป็นโอกาสสำหรับกุ้งไทยที่จะกลับมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกุ้งได้อีกครั้งอย่างแน่นอน