แหล่งข่าวผู้ประกอบการประมง เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากกรณี ดร.มณเฑียร อินทร์น้อย ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา มีคำสั่งปิดสะพานปลาสมุทรสาคร สมุทรปราการ เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.63 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพื่อลดความเสี่ยง และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิค 19 แต่จะผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการเรือที่ถึงกำหนดเข้าจอดที่สะพานปลาสมุทรสาคร แต่ทั้งนี้จะจำกัดพื้นที่ควบคุม พร้อมประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้เข้ามาทำการตรวจคัดกรองในเชิงรุกป้องกันการแพร่ระบาด ตามมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว จากคำสั่งดังกล่าว กะทันหันเกินไป ทำให้หลายคนเคว้ง ไม่แน่ใจว่าจะนำปลาไปขึ้นท่าเทียบเรือได้ที่ไหน ทำไมก่อนปิดท่าสะพานปลาต้องหาที่รองรับให้ชาวประมงก่อนหรือไม่
ด้าน ดร.มณเฑียร อินทร์น้อย ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา (อสป.) เปิดเผยว่า หลังตรวจพบจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด 19 (covid 19) ที่ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.นครปฐม และกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อสป.ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงทั้ง 18 แห่งทั่วประเทศ โดยในจำนวนนี้มีสะพานปลาสมุทรสาคร และสะพานปลาสมุทรปราการ รวมอยู่ด้วย ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.63 ที่ผ่านมาได้เรียกประชุมด่วนหัวหน้าสำนักงานสะพานปลาทั้ง 2 แห่ง รวมถึงผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมหารือ และหาแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งได้ข้อสรุปว่า จำเป็นต้องปิดท่าหรืองดให้บริการสะพานปลาสมุทรสาคร และสะพานปลาสมุทรปราการ เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.63 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพื่อลดความเสี่ยง และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิค 19
แต่อย่างไรก็ตาม จะผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการเรือที่ถึงกำหนดเข้าจอดที่สะพานปลาสมุทรสาคร แต่ทั้งนี้จะจำกัดพื้นที่ควบคุม พร้อมประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้เข้ามาทำการตรวจคัดกรองในเชิงรุกป้องกันการแพร่ระบาด ตามมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว
“แม้ในเบื้องต้น จะยังไม่พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ของ อสป. แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และเห็นถึงความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการ รวมถึงพนักงาน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิค 19 ครั้งนี้ อยู่ในพื้นที่ ที่ อสป. มีสะพานปลาตั้งอยู่ หากยังเปิดให้บริการ อาจมีความเสี่ยงเกิดขึ้นแน่นอน และในช่วงระหว่างปิดท่า ผมได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สะพานปลาทั้ง 2 แห่ง รวมถึงสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงทุกแห่งให้เตรียมความพร้อมในการป้องกัน และป้องปรามอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะตั้งจุดคัดกรอง สแกนอุณหภูมิ สวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา ควบคุมการเข้า-ออก และทำความสะอาด ฉีดพ่นยาในทุกจุดอย่างเข้มงวด พร้อมรายงานสถานการณ์ให้ทราบทุกระยะ”
ดร.มณเฑียร กล่าวว่า อยากให้เจ้าหน้าที่และพนักงานทุกคนมีกำลังใจในการทำงาน และอย่าตระหนก หรือวิตกกังวลในเรื่องนี้ เพราะทุกปัญหา ย่อมมีทางออกเสมอ ขอให้ช่วยกันดูแลและป้องกัน เพื่อความปลอดภัยของทุกคน และเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ผู้ใช้บริการสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมง ทั้ง 18 แห่งที่มีอยู่ทั่วประเทศของ อสป.แม้จะขาดรายได้ก็ต้องยอม